พระพุทธศักดิ์สิทธิ์ วัดโพรงจระเข้
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สืบทอดพระพุทธศาสนา
นำทางสู่การพ้นทุกข์

ขุททกนิกายภาค ๑
ทุกนิบาต
๑.ทัฬหวรรค
โมรชาดก
ว่าด้วยนกยูงเจริญพระปริตต์

      พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภภิกษุผู้กระสัน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้

      ภิกษุทั้งหลายนำภิกษุนั้นไปเฝ้าพระศาสดา เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า เธอกระสันจริงหรือ ภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้าเมื่อตรัสถามว่า เธอเห็นอะไรจึงกระสัน กราบทูลว่า เห็นมาตุคามคนหนึ่งซึ่งประดับตกแต่งกาย พระศาสดารับสั่งกะภิกษุนั้นว่าดูก่อนภิกษุ ขึ้นชื่อว่ามาตุคามทำไมจักไม่รบกวนจิตคนเช่นเธอ แม้บัณฑิตแต่ก่อน พอได้ยินเสียงมาตุคาม กิเลสที่สงบมาเจ็ดร้อยปีได้โอกาสยังกำเริบได้ทันที สัตว์ทั้งหลายแม้บริสุทธิ์ ยังเศร้าหมองได้ แม้สัตว์ผู้เปี่ยมด้วยยศสูง ยังถึงความพินาศได้ จะกล่าวไปทำไมถึงสัตว์ผู้ไม่บริสุทธิ์ แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า

      ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิดนกยูง ในเวลาเป็นฟอง มีกระเปาะฟองคล้ายสีดอกกรรณิการ์ตูม ครั้นเจาะกระเปาะฟองออกมาแล้ว มีสีดุจทองคำ น่าดู น่าเลื่อมใส มีลายแดงพาดในระหว่างปีก นกยูงนั้นคอยระวังชีวิตของตน อาศัยอยู่ ณ พื้นที่เขาทัณกหิรัญแห่งหนึ่ง ใกล้แนวเขาที่สี่เลยแนวเขาที่สามไป ตอนสว่างนกยูงทองจับอยู่ที่ยอดเขา มองดูพระอาทิตย์กำลังขึ้น เมื่อจะผูกมนต์อันประเสริฐ เพื่อรักษาป้องกันตัว ณ ภูมิภาคที่หาอาหาร จึงกล่าวคาถาเป็นต้นว่า :

พระอาทิตย์นี้เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอก

กำลังอุทัยขึ้นมาทอแสงอร่ามส่วางไปทั่วปฐพี

เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น

ซึ่งทอแสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี

ข้าพเจ้าอันท่านช่วยคุ้มกันแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดวัน

      พระโพธิสัตว์ครั้นนอบน้อมพระอาทิตย์ด้วยคาถานี้ อย่างนี้แล้ว จึงนมัสการพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จปรินิพพานไปแล้วในอดีต และพระคุณของพระพุทธเจ้า ด้วยคาถาที่สองว่า :

พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง

ขอพราหมณ์เหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า

และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ

ขอนอบน้อมแด่ผู้หลุดพ้นแล้ว

ขอนอบน้อมแด่วิมุติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

นกยูงนั้นเจริญพระปริตรนี้แล้วจึงเที่ยวไปแสวงหาอาหาร

อธิบายว่า

      พราหมณ์ผู้บริสุทธิ์ลอยบาปเสียเหล่าใด กระทำสังขธรรมและอสังขธรรมทั้งปวงที่ตนรู้แล้ว ปรากฏแล้ว ทำลายยอดมารทั้งสาม ยังหมื่นโลกธาตุให้บันลือ บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณที่ควงไม้โพธิล่วงฝั่งแห่งสงสารได้แล้ว ขอพราหมณ์เหล่านั้นจงรับความนอบน้อมนี้ของข้าพเจ้า อนึ่งขอท่านผู้เจริญเหล่านั้นที่ข้าพเจ้านอบน้อมแล้วอย่างนี้ จงรักษา ดูแลคุ้มครองข้าพเจ้า

      ขอความนอบน้อมของข้าพเจ้านี้ จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเสด็จปรินิพพานล่วงไปแล้ว ขอจงมีแด่พระปรีชาตรัสรู้อันได้แก่ ญาณในมรรคสี่ ผลสี่ของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น อีกอย่างหนึ่ง ขอจงมีแด่พระองค์ผู้หลุดพ้นแล้วด้วยความหลุดพ้น คือพระอรหัตตผลของพระองค์ และความหลุดพ้นห้าอย่างของพระองค์ คือ ตทังควิมุติ พ้นชั่วคราว ๑ วิกขัมภนวิมุติ พ้นด้วยการข่มไว้ ๑ สมุจเฉทวิมุติ พ้นด้วยออกไป ๑ ขอความนอบน้อมของข้าพเจ้านี้ จงมีแก่ความหลุดพ้นห้าอย่างของพระองค์เหล่านั้นทั้งหลาย

      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นกยูงนั้นครั้นเจริญปริตรนี้คือการป้องกันนี้แล้ว จึงเที่ยวไปแสวงหาอาหารนานาชนิดเพื่อต้องการดอกไม้ผลไม้เป็นต้นในที่หาอาหารของตน

      นกยูงครั้นเที่ยวไปตลอดวันอย่างนี้แล้ว ตอนเย็นก็จับอยู่บนยอดเขามองดูดวงอาทิตย์ซึ่งกำลังตก ระลึกถึงพระพุทธคุณเมื่อจะผูกมนต์อันประเสริฐอีก เพื่อรักษาคุ้มกันในที่อยู่จึงกล่าวคำมีดังนี้

ความว่า :

ดวงอาทิตย์นี้เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างเอก

มีสีทองส่องแสงสว่างไปทั่วปฐพีแล้วอัสดงคตไป

เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจักขอนอบน้อมดวงอาทิตย์นั้น

ซึ่งมีสีทองส่องแสงสว่างไปทั่วปฐพี

ข้าพเจ้าอันท่านคุ้มครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน

พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึงฝั่งแห่งเวท ในธรรมทั้งปวง

ขอพราหมณ์เหล่านั้น จงรับและจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

แด่พระโพธิญาณ แด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

แด่วิมุติธรรมของท่าน ผู้หลุดพ้นแล้ว

นกยูงนั้น ครั้นเจริญพระปริตรนี้แล้วจักพักอยู่

      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นกยูงครั้งนั้นเจริญพระปริตร คือการป้องกันนี้แล้ว จึงพักอยู่ ณ ที่อยู่นั้น ด้วยอานุภาพแห่งพระปริตรนี้ นกยูงมิได้มีความกลัว ความสยดสยองตลอดคืนตลอดวัน

      ลำดับนี้พราหมณ์ชาวบ้านเนสาทคนหนึ่ง อยู่ไม่ไกลกรุงพาราณสีท่องเที่ยวไปในหิมวันตประเทศ เห็นนกยูงโพธิสัตว์จับอยู่บนยอดเขาทัณฑกหิรัญ จึงกลับมาบอกลูก อยู่มาวันหนึ่งพระนางเขมาพระเทวีของพระเจ้ากรุงพาราณสี ทรงสุบินเห็นนกยูงสีทองแสดงธรรม ขณะตื่นพระบรรทมได้กราบทูลสุบินแด่พระราชาว่า ขอเดชะข้าแต่พระองค์หม่อมฉันประสงค์จะฟังธรรมของนกยูงสีทองเพคะ

      พระราชาจึงมีพระดำรัสถามพวกอำมาตย์ พวกอำมาตย์กราบทูลว่า พวกพราหมณ์คงจะทราบพ่ะย่ะค่ะ พราหมณ์ทั้งหลายสดับพระราชปุจฉาแล้ว จึงพากันกราบทูลว่า ขอเดชะนกยูงสีทองมีอยู่แน่ พระเจ้าข้า

      พระราชาตรัสถามว่ามีอยู่ที่ไหนเล่า จึงกราบทูลว่า พวกพรานจักทราบพระเจ้าข้า

พระราชารับสั่งให้ประชุมพวกพราหมณ์แล้วตรัสถามครั้นแล้วบุตรพราหมณ์คนนั้นก็กราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าแต่มหาราชนกยูงสีทองมีอยู่จริงอาศัยอยู่ ณ ทัณฑกบรรพต พระเจ้าข้า

      พระราชารับสั่งว่า ถ้าเช่นนั้นเจ้าจงไปจับนกยูงนั้นมาอย่าให้ตาย พรานจึงเอาบ่วงไปดักไว้ที่ ณ ที่นกยูงหาอาหาร แม้ในสถานที่ที่นกยูงเหยียบ บ่วงก็หาได้กล้ำกรายเข้าไปไม่ พรานไม่สามารถจับนกยูงได้ ท่องเที่ยวอยู่ถึงเจ็ดปี ได้ถึงแก่กรรมลง ณ ที่นั้นเอง แม้พระนางเขมาราชเทวี เมื่อไม่ได้สมพระประสงค์ก็สิ้นพระชนม์ พระราชาทรงกริ้วว่า พระเทวีได้สิ้นพระชนม์ลงเพราะอาศัยนกยูง จึงให้จารึกอักษรไว้ในแผ่นทองว่า ในหิมวัตตประเทศมีภูเขาลูกหนึ่งชื่อทัณฑกบรรพต นกยูงสีทองตัวหนึ่งอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น ผู้ได้กินเนื้อของมัน ผู้นั้นไม่แก่ไม่ตาย จะมีอายุยืนแล้วเก็บแผ่นทองไว้ในหีบทอง

      ครั้นพระราชาสวรรคตแล้วพระราชาองค์อื่นครองราชสมบัติ ทรงอ่านข้อความในสุพรรณปัฏมีพระประสงค์จะไม่แก่ไม่ตาย จึงทรงส่งพรานคนอื่นไป ให้เที่ยวแสวงหา เมื่อพรานนั้นไปถึงที่นั้นแล้วก็ไม่สามารถจะจับพระโพธิสัตว์ได้ ได้ตายในที่นั้นเอง โดยทำนองนี้พระราชาสวรรคตไปหกชั่วพระองค์ ครั้นถึงองค์ที่เจ็ดครองราชสมบัติจึงทรงส่งพรานคนหนึ่งไป พรานนั้นไปถึงแล้วก็รู้ถึงภาวะที่บ่วงมิได้กล้ำกรายแม้ในที่ที่นกยูงโพธิสัตว์เหยียบ และการที่นกยูงโพธิสัตว์เจริญพระปริตรป้องกันตนก่อนแล้ว จึงบินไปหาอาหาร

      พรานนั้นจึงขึ้นไปยังปัจจันตชนบท จับนางนกยูงได้ตัวหนึ่ง ฝึกให้รู้จักฟ้อนด้วยเสียงปรบมือ และให้รู้จักขันด้วยเสียงดีดนิ้ว ครั้นฝึกนางนกยูงจนชำนาญดีแล้ว จึงพามันไป เมื่อนกยูงทองยังไม่เจริญพระปริตรปักโคนบ่วงดักไว้ในเวลาเช้า ทำสัญญาณให้นางนกยูงขัน นกยูงทองได้ยินเสียงมาตุคาม ซึ่งเป็นข้าศึกแล้ว ก็เร่าร้อนด้วยกิเลสไม่อาจเจริญพระปริตรได้ จึงบินโผไปติดบ่วง พรานจึงจับนกยูงทองไปถวายพระเจ้าพาราณสี พระราชาทอดพระเนตรเห็นรูปสมบัติของนกยูงทอง ก็ทรงพอพระทัยพระราชทานที่ให้จับ นกยูงทองโพธิสัตว์จับอยู่เหนือคอนที่เขาจัดแต่งให้จึงทูลถามว่า ข้าแต่มหาราชเพราะเหตุไรจึงมีรับสั่งให้จับข้าพเจ้า

      พระราชาตรัสว่า ข่าวว่าผู้ใดกินเนื้อเจ้า ผู้นั้นจะไม่แก่ไม่ตาย ข้าพเจ้าต้องการกินเนื้อเจ้าจะได้ไม่แก่ไม่ตายบ้าง จึงให้จับเจ้ามา

      นกยูงทองทูลว่า ข้าแต่มหาราช คนทั้งหลายกินเนื้อข้าพเจ้าจะไม่แก่ไม่ตายก็ช่างเถิด แต่ข้าพเจ้าจักตายหรือ

      รับสั่งว่าจริงเจ้าต้องตาย

      กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเมื่อข้าพเจ้าต้องตาย ผู้ที่กินเนื้อข้าพเจ้าแล้วทำอย่างไรจึงไม่ตายเล่า

      รับสั่งว่า เจ้ามีตัวเป็นสีทอง เพราะฉะนั้นมีข่าวว่า ผู้ที่กินเนื้อเจ้าแล้วจักไม่แก่ไม่ตาย

      กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพเจ้ามีสีทองเพราะไม่มีเหตุหามิได้ เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าจักพรรรดิ์ในนครนี้แหละ ทั้งตนเองก็รักษาศีลห้า แม้ชนทั้งหลายทั่วจักรวาฬก็ให้รักษาศีล ข้าพเจ้าสิ้นชีพแล้วก็ไปบังเกิดในภพดาวดึงส์ดำรงอยู่ในภพนั้นจนตลอดอายุ จุติจากนั้นแล้ว จึงมาเกิดในกำเนิดนกยูง เพราะผลแห่งอกุศลกรรมอื่น อีกอย่างหนึ่งแต่ตัวมีสีทองก็ด้วยอานุภาพศีลห้าที่รักษาอยู่ก่อน

      รับสั่งถามว่าเจ้าพูดว่า เจ้าเป็นเจ้าจักรพรรดิ์รักษาศีลห้า ตัวมีสีเป็นทองเพราะผลของศีล ข้อนี้ข้าพเจ้าจะเชื่อได้อย่างไร มีใครเป็นพยาน

      กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช มี

      รับสั่งถามว่า ใครเล่า

      กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช เมื่อครั้งเป็นเจ้าจักรพรรดิ์ ข้าพเจ้านั่งรถสำเร็จด้วยแก้วเจ็ดประการ เที่ยวไปในอากาศ รถของข้าพเจ้านั้นจมอยู่ภายใต้ภาคพื้นสระมงคลโบกขรณี โปรดให้ยกรถนั้นขึ้นจากสระมงคลโบกขรณีเถิด รถนั้นจักเป็นพยานของข้าพเจ้า

      พระราชารับสั่งว่า ดีละแล้วให้วิดน้ำออจากสระโบกขรณี ยกรถขึ้นได้จึงทรงเชื่อคำของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์แสดงธรรมถวายพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ธรรมที่ปรุงแต่งทั้งหมดที่เหลือนอกจากพระอมตมหานิพพานแล้ว ชื่อว่าไม่เที่ยง มีความสิ้นและความเสื่อมเป็นธรรมดา เพราะมีแล้วกลับไม่มี ดังนี้แล้วให้พระราชาดำรงอยู่ในศีลห้า พระราชาทรงเลื่อมใสบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยราชสมบัติ ได้ทรงกระทำสักการะเป็นอันมาก นกยูงทองถวายราชสมบติคืนแด่พระราชา พักอยู่ ๒ - ๓ วัน จึงถวายโอวาทว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงไม่ประมาทเถิด แล้วบินขึ้นอากาศไปยังภูเขาทัณฑกหิรัญ ฝ่ายพระราชาดำรงอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์แล้ว ทรงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้นเสด็จไปตามยถากรรม

      พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม เมื่อจบสัจธรรม ภิกษุผู้กระสันตั้งอยู่ในพระอรหัต แล้วทรงประชุมชาดกว่า

      พระราชาในครั้งนั้นได้เป็นอานนท์ในบัดนี้

      ส่วนนกยูงทองได้เป็นเราตถาคตนี้แล

จบ โมรชาดก

อรรถกถาชาดกพระเจ้า 547 พระชาติ

เชิญร่วมบุญ