ขุททกนิกายภาค ๑
เอกนิบาต
๕.อัตถกามวรรค
โรหิณีชาดก
ผู้อนุเคราะห์ที่โง่เขลาไม่ดี
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระมหาวิหารชื่อว่า เชตวัน ทรงปรารภทาสีของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
ได้ยินมาว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีมีทาสีคนหนึ่ง ชื่อว่า โรหิณี วันหนึ่ง มารดาของนางทาสีซึ่งเป็นหญิงแก่มานอนอยู่ในโรงกระเดื่อง ฝูงแมลงวันรุมกันตอมมารดาของนางโรหิณีนั้น กัดเจ็บเหมือนกับแทงด้วยเข็ม นางจึงบอกกับลูกสาวว่า แม่หนู แมลงวันรุมกัดแม่ เจ้าจงไล่มันไป นางรับคำว่า จ๊ะแม่ ฉันจะ ไล่มัน เงื้อสาก คิดในใจว่า เราจักตีแมลงวันที่รุมตอมตัวของแม่ให้ตาย ให้ถึงความพินาศ แล้วก็เหวี่ยงสากตำข้าวถูกมารดาตายคาที่
ครั้นเห็นมารดาตาย ก็ร้องไห้คร่ำครวญว่า แม่ของเรา ตายเสียแล้ว ๆ คนทั้งหลาย จึงบอกเรื่องราวแก่ท่านเศรษฐี ท่านเศรษฐีได้จัดการสรีรกิจตามสมควรแล้วก็ไปสู่วิหาร กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดแก่พระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่า ดูก่อน คฤหบดี มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่นางทาสีนี้ประหารมารดาของตนตายด้วยสากตำข้าว เพราะมั่นหมายว่า จักประหารแมลงวันที่ตอมตัวของมารดา แม้ในปางก่อน ก็ได้เคยประหารมารดา ให้ตายด้วยสากซ้อมข้าวมาแล้วเหมือนกัน ท่านเศรษฐีกราบทูลอาราธนา แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุง พาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลเศรษฐี ครั้นบิดาวายชนม์ ก็ครองตำแหน่งเศรษฐีแทน ท่านมีทาสีคนหนึ่ง ชื่อ โรหิณี เหมือนกัน แม้ทาสีนั้น ก็ได้ประหารมารดาของตน ผู้มาสู่โรง กระเดื่อง บอกให้ช่วยปัดแมลงวันให้ด้วยสากซ้อมข้าวอย่างนี้ นั่นแหละ ครั้นมารดาสิ้นชีวิต ก็ร้องไห้คร่ำครวญ พระโพธิสัตว์ ฟังเรื่องนั้นแล้ว ดำริว่า ถึงแม้จะเป็นศัตรูก็ขอให้เป็นบัณฑิตเถิด ประเสริฐแน่ แล้วกล่าวว่า :
นางโรหิณีผู้โง่เง่า หมายใจว่า เราจักฆ่าแมลงวัน กลับฆ่าแม่บังเกิดเกล้า แล้วร้องไห้ คร่ำครวญอยู่ด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้ในโลกนี้ แม้ถึงจะมีศัตรู ก็ขอให้เป็นบัณฑิตเถิด ยังดีกว่าแน่นอน
พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่นางโรหิณีหมายใจว่า "เราจักฆ่าแมลงวัน" กลับฆ่ามารดาเสีย แม้ในปางก่อนก็เคยฆ่ามาแล้วเหมือนกัน ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาตรัสแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
มารดานางโรหิณีในครั้งนั้น ก็มาเป็นมารดาในครั้งนี้
ธิดาในครั้งนั้น ก็มาเป็นธิดาในครั้งนี้เหมือนกัน
แต่มหาเศรษฐีในครั้งนั้น ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบโรหิณีชาดก
;