ขุททกนิกายภาค ๑
เอกนิบาต
๑๒. หังสิวรรค
ติตฺติรชาดก
ว่าด้วยตายเพราะปาก
พระศาสดาเมื่อทรงอาศัยนครโกสัมพี ประทับอยู่ในเวทริการามทรงปรารภพระราหุลเถระ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
เรื่องราวได้พรรณนาไว้พิสดารแล้วใน ติปัลลัตถมิคชาดก ในหนหลังนั่นแล แต่ในที่นี้ ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันถึงคุณความดีของท่านผู้มีอายุนั้น ในโรงธรรมสภาว่า "ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลายพระราหุลเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา มีความรังเกียจบาปธรรม อดทนต่อโอวาท" พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ ?" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยเรื่องชื่อนี้ พระเจ้าข้า" จึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายมิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ราหุลเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษามีความรังเกียจบาปธรรม อดทนต่อโอวาทแล้วเหมือนกัน" แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ พอเจริญวัยแล้ว ก็เรียนศิลปะทั้งปวงในเมืองตักกศิลา แล้วออกบวชเป็นฤๅษีในหิมวันตประเทศ ทำอภิญญาและสมาบัติให้บังเกิดแล้วเล่นฌานอยู่ในไพรสณฑ์อันน่ารื่นรมย์ ครั้งหนึ่งท่านได้ไปยังบ้านปัจจันตคามแห่งหนึ่ง เพื่อต้องการเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว คนทั้งหลาย ในบ้านปัจจันตคามนั้นเห็นพระโพธิสัตว์นั้นแล้ว มีจิตเลื่อมใสจึงให้สร้างบรรณศาลาในป่าแห่งหนึ่งแล้วนิมนต์ให้อยู่ บำรุงด้วยปัจจัยทั้งหลาย
ครั้งนั้นมีนายพรานนกคนหนึ่งในบ้านนั้น จับนกกระทาเป็นนกต่อได้ตัวหนึ่งให้การสั่งสอนในการเป็นนกต่อเป็นอย่างดีแล้วใส่กรงเลี้ยงไว้ นายพรานนกนั้นใช้นกกระทาต่อนั้นทำงานเลี้ยงชีวิตอยู่ ครั้งนั้น นกกระทานั้นคิดว่าญาติของเราเป็นอันมากพากันฉิบหายเพราะอาศัยเราผู้เดียว นั้นเป็นบาปของเรา ดังนั้นจึงไม่ส่งเสียงร้อง นายพรานนกนั้นรู้ว่านกกระทาต่อนั้นไม่ร้อง จึงเอาแขนงไม้ไผ่ตีศีรษะนกกระทาต่อนั้น นกกระทาจึงร้องเพราะอาดูรเร่าร้อนด้วยความทุกข์ นายพรานนกนั้นอาศัยนกกระทานั้น จับนกกระทาทั้งหลายมาเลี้ยงชีวิต ด้วยประการอย่างนี้
ลำดับนั้น นกกระทานั้นคิดว่า เราไม่มีเจตนาว่า นกเหล่านี้จงตาย แต่กรรมที่อาศัยเป็นไปคงจะถูกต้องเรา เมื่อเราไม่ร้อง นกเหล่านั้นก็ไม่มา ต่อเมื่อเราร้องจึงมา นายพรานนกนี้จับพวกนกที่มาแล้วๆ ฆ่าเสีย ในข้อนี้ บาปจะมีแก่เราหรือไม่หนอ จำเดิมแต่นั้น นกกระทานั้นคิดว่า ใครหนอจะตัดความสงสัยนี้ของเราได้
วันหนึ่งนายพรานเที่ยวจับนกกระทาได้เป็นอันมากบรรจุเต็มกระเช้า คิดว่าจักดื่มน้ำ จึงไปยังอาศรมของพระโพธิสัตว์ วางกรงนกต่อนั้นไว้ในสำนักของพระโพธิสัตว์ ดื่มน้ำแล้วนอนที่พื้นทรายหลับไป นกกระทารู้ว่านายพรานนั้นหลับ จึงคิดว่า เราจะถามความสงสัยของเรากะดาบสนี้ เมื่อท่านรู้จักได้บอกเรา เมื่อจะถามดาบสนั้น จึงกล่าวว่า :
"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าอาศัยนายพรานนกผู้นี้เป็นอยู่สบายดี แต่ว่า ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ผู้พากันมาด้วยเสียงของข้าพเจ้า ย่อมฉิบหายไปเพราะอันตรายใด ข้าพเจ้าตั้งอยู่ในอันตรายนั้นด้วย"
"ท่านผู้เจริญคติของข้าพเจ้าเป็นอย่างไรหนอ คือว่า ความสำเร็จผลอะไรจักมีแก่ข้าพเจ้า."
พระโพธิสัตว์เมื่อจะแก้ปัญหาของนกกระทานั้น จึงกล่าวว่า :
"ถ้าใจของท่านไม่น้อมไปเพื่อประโยชน์แก่บาปกรรม คือไม่โน้มน้อมเงื่อมไปในการกระทำบาป เมื่อเป็นเช่นนั้น บาปย่อมไม่แปดเปื้อน คือไม่ติดท่านผู้ไม่ขวนขวาย คือไม่ถึงการขวนขวายเพื่อต้องการทำบาปกรรม เป็นผู้บริสุทธิ์ทีเดียว."
นกกระทาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า :
"ท่านผู้เจริญ ถ้าข้าพเจ้าไม่ทำเสียง นกกระทานี้จะไม่มา แต่เมื่อข้าพเจ้ากระทำเสียง นกกระทาจำนวนมากนี้มา ด้วยคิดว่า ญาติของพวกเราจับอยู่ นายพรานจับนกกระทาตัวที่มานั้นฆ่าอยู่ ชื่อว่าได้ประสบกรรมคือปาณาติบาตนี้ เพราะอาศัยข้าพเจ้า เพราะฉะนั้น ใจของข้าพเจ้าจึงรังเกียจ คือถึงความรังเกียจอย่างนี้ว่า นายพรานกระทำบาป เพราะอาศัยเรา บาปนี้จะมีแก่เราไหมหนอ."
พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า :
"ถ้าใจของท่านไม่ประทุษร้ายเพราะอาการทำบาปกรรม คือ ไม่โน้มไม่โอน ไม่เงื้อมไปในการทำบาปกรรมนั้น เมื่อเราเป็นเช่นนั้น กรรมแม้ที่นายพรานอาศัยท่านกระทำ ย่อมไม่ถูกต้องคือไม่แปดเปื้อนท่าน เพราะบาปนั้นย่อมไม่แปดเปื้อน คือย่อมไม่ติดจิตของท่านผู้มีความขวนขวายน้อย คือไม่มีความห่วงใยในการทำบาป ผู้เจริญคือผู้บริสุทธิ์ เพราะท่านไม่มีความจงใจในปาณาติบาต."
พระมหาสัตว์ได้กระทำให้นกกระทาเข้าใจแล้วด้วยประการอย่างนี้ ฝ่ายนกกระทานั้นก็ได้เป็นผู้หมดความรังเกียจสงสัย เพราะอาศัยพระมหาสัตว์นั้น นายพรานตื่นนอนแล้วไหว้พระโพธิสัตว์ ถือเอากรงนกกระทาหลีกไป.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
นกกระทาในครั้งนั้น ได้เป็นพระราหุลในบัดนี้
ส่วนพระดาบสในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาติตติรชาดก