พระพุทธศักดิ์สิทธิ์ วัดโพรงจระเข้
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สืบทอดพระพุทธศาสนา
นำทางสู่การพ้นทุกข์

 

ขุททกนิกายภาค ๑

เอกนิบาต

๑. อปัณณกวรรค

สุขวิหาริชาดก

ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข

  

 พระศาสดาเมื่อทรงอาศัย อนุปิยนคร ประทับอยู่ในอนุปิยอัมพวัน ทรงปรารภพระภัททิยเถระผู้มีปกติอยู่เป็นสุขจึงตรัสพระธรรมเทศนานี้

ก็ท่านพระภัททิยเถระรักษาคุ้ม ครองพระองค์ในคราวเป็นพระราชา ก็ยังทรงเห็นภัยที่จะเกิดขึ้นแก่พระองค์ผู้ อันเขารักษาอยู่ด้วยการรักษามากมายดุจเทวดาจัดการรักษา และภัยที่จะเกิดแก่ พระองค์ผู้ทรงพลิกกลับไปมาอยู่บนพระที่บรรทมใหญ่ในปราสาทชั้นบน บัดนี้ บรรลุพระอรหัตแล้ว แม้จะอยู่ในที่ใดที่หนึ่งมีป่าเป็นต้น ก็พิจารณาเห็นความที่พระองค์เป็นผู้ปราศจากภัย จึงเปล่งอุทานว่า

“สุขหนอ สุขหนอ”

ภิกษุทั้งหลายได้ฟังดังนั้นจึงกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

“ท่านพระภัททิยเถระ พยากรณ์พระอรหัตผล”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัททิยะนั้นจะมีปกติอยู่เป็นสุขในบัดนี้เท่านั้นหามิได้ แม้ในกาลก่อนก็มีปกติอยู่เป็น สุขเหมือนกัน.”

ภิกษุทั้งหลายจึงทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อต้องการให้ ทรงประกาศเรื่องนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงกระทำเหตุอันระหว่างภพ ปกปิดไว้ ให้ปรากฏ ดังต่อไปนี้.

 ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นพราหมณ์มหาศาลผู้เกิดในตระกูลสูง เห็นโทษในกามทั้งหลายและอานิสงส์ในการออกบวช จึงออกบวชเป็นฤๅษีเข้าป่าหิมพานต์ บำเพ็ญเพียรอยู่จนได้สมาบัติ ๘ บริวารของพระโพธิสัตว์นั้นมีดาบสอยู่ ๕๐๐ รูป. ครั้นถึงฤดูฝน พระโพธิสัตว์นั้นออกจากป่าหิมพานต์พร้อมด้วยหมู่ดาบสเที่ยวจาริกไปในคามและนิคมต่าง ๆ บรรลุถึงเมืองพาราณสี พระเจ้าพรหมทัตจึงได้อาราธนาให้พักอยู่ในพระราชอุทยาน ท่านพระฤๅษีทรงอยู่ในพระราชอุทยานนั้นตลอดฤดูฝนเป็นเวลา ๔ เดือน ครั้นสิ้นฝนแล้วจึงได้ทูลลาพระราชาเพื่อจะกลับไปป่าหิมพานต์ดังเดิม

พระเจ้าพรหมทัตทรงพระประสงค์จะอุปัฏฐากพระโพธิสัตว์จึงทรงอ้อนวอนให้พระโพธิสัตว์อยู่เสียที่ในพระนครพารณสี และส่งเหล่าศิษย์ทั้งหลายกลับไปอยู่ป่าหิมพานต์ พระโพธิสัตว์ทรงมอบหมายศิษย์ดาบสทั้ง ๕๐๐ รูป ให้กับหัวหน้าศิษย์เป็นผู้รับผิดชอบต่อไป แล้วส่งดาบสเหล่านั้นไป โดยบอกว่า

“ท่านจงไปอยู่ในป่าหิมพานต์ กับดาบสเหล่านั้น ส่วนเราจักอยู่ในที่นี้แหละ”

แล้วท่านก็พักอยู่ในพระราชอุทยานนั้นนั่นเอง

ศิษย์ผู้เป็นหัวหน้าของพระโพธิสัตว์นั้น เป็นราชตระกูล สละราชสมบัติแล้วออกบวช กระทำกสิณบริกรรมจนสำเร็จได้สมาบัติ ๘. ศิษย์ผู้เป็นหัวหน้านั้นก็อยู่ในป่าหิมพานต์กับดาบสทั้งหลายต่อมา จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านมีความประสงค์ จะไปเยี่ยมท่านพระฤๅษีผู้เป็นอาจารย์ จึงเรียกดาบสเหล่านั้นมาแล้วกล่าวว่า

“ท่านทั้งหลายจงอยู่ในที่นี้แหละ เราเห็นอาจารย์แล้วจะกลับมา”

แล้วจึงเดินทางออกจากป่าหิมพานต์ไปยังสำนักของอาจารย์

ครั้นเมื่อถึงสำนักของอาจารย์ที่อยู่ในพระราชอุทยานของพระเจ้าพรหมทัต ที่กรุงพาราณสีแล้ว ได้พบพระฤๅษีผู้เป็นอาจารย์แล้ว จึงทำความเคารพแล้วกระทำปฏิสันถาร จากนั้นท่านจึงได้ปูลาดเสื่อลำแพนผืนหนึ่งนอนอยู่ในสำนักของอาจารย์นั่นเอง.

เวลานั้น พระเจ้าพรหมทัตทรงมีพระประสงค์จะทรงเยี่ยมพระดาบส จึงเสด็จไปยังพระราชอุทยาน พบพระฤๅษีผู้เป็นอาจารย์แล้ว จึงทรงถวายบงคมแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ส่วนพระดาบสผู้เป็นศิษย์ที่กำลังนอนอยู่บนเสื่อลำแพนนั้น แม้จะเห็นพระราชาเสด็จมาเยี่ยมพระฤๅษีผู้เป็นอาจารย์ก็ไม่ลุกขึ้น แต่นอนอยู่อย่างนั้นพร้อมกับเปล่งอุทานว่า

“สุขหนอ สุขหนอ”

พระเจ้าพรหมทัตทรงเห็นดาบสผู้เป็นศิษย์ของพระฤๅษีผู้เป็นอาจารย์กระทำดังนั้นก็ทรงน้อยพระทัยว่า ดาบสนี้ แม้เห็นเราก็ ไม่ลุกขึ้น จึงตรัสกับพระโพธิสัตว์ว่า

“ท่านผู้เจริญ ดาบสนี้คงจะฉันตามต้องการ จึงสำเร็จการกินอย่างสบายทีเดียว แล้วเปล่งอุทานอยู่”

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “มหาบพิตร ดาบสนี้ เมื่อก่อน ได้เป็นพระราชาองค์หนึ่งเช่นเดียวกับพระองค์ ดาบสนี้นั้นคิดว่า เมื่อก่อนในคราวเป็นคฤหัสถ์ เสวยสิริราชสมบัติ แม้มีคนเป็นอันมากมือถืออาวุธคุ้มครองอยู่ ก็ยังไม่ได้มีความสุขดังเช่นที่มีอยู่เมื่ออกบวชเช่นนี้ จึงปรารภสุขในการบวช และสุขในฌานของตนแล้วเปล่งอุทานนี้”

พระราชาได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาแล้วมีพระทัยยินดี บังคมแล้ว เสด็จไปยังพระราชนิเวศน์นั่นเอง ฝ่ายศิษย์นั้นก็ไหว้พระอาจารย์แล้วลากลับไปยังป่าหิมพานต์ตามเดิม ฝ่ายพระโพธิสัตว์พำนักอยู่ในพระราชอุทยานนั้น ดำรงอยู่ฌาน ครั้นสิ้นชีวิตแล้วไปบังเกิดในพรหมโลก.

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า

หัวหน้าศิษย์ในครั้งนั้นได้เป็น พระภัททิยเถระ

ส่วนฤๅษีคือ เราเอง แล.

 

อรรถกถาชาดกพระเจ้า 547 พระชาติ

เชิญร่วมบุญ