ขุททกนิกายภาค ๑
ทุกนิบาต
๑.ทัฬหวรรค
ราโชวาทชาดก
ว่าด้วยวิธีชนะ
พระศาสดาเมื่อทรงประทับอยู่ ณ พระเชตวันทรงปรารภโอวาทของพระราชา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้
โอวาทของพระราชานั้นจักมีแจ้งในเตสกุณชาดก ในวันหนึ่งพระเจ้าโกศลทรงวินิจฉัยคดีเรื่องหนึ่ง ซึ่งวินิจฉัยไว้ไม่ดี มีอคติ เสร็จแล้วเสวยพระกระยาหารเช้า ทั้ง ๆ ที่มีพระหัตถ์เปียก เสด็จขึ้นทรงราชรถที่จัดไว้เรียบร้อยแล้ว เสด็จไปเฝ้าพระศาสดา ทรงหมอบลงแทบพระบาทอันมีสิริดุจดอกปทุมบาน ถวายบังคมพระศาสดา ประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง พระเจ้าโกศลกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ข้าพระองค์วินิจฉัยคดีเรื่องหนึ่งซึ่งวินิจฉัยไว้ไม่ดี จึงไม่มีโอกาส บัดนี้พิจารณาคดีนั้นเสร็จแล้ว จึงบริโภคอาหารทั้ง ๆ ที่มือยังเปียก มาเฝ้าพระองค์นี่แหละพระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่า ขอถวายพระพรชื่อว่าการวินิจฉัยคดีโดยทำนองคลองธรรมเป็นความดี เป็นทางสวรรค์แท้ ก็ข้อที่มหาบพิตรได้โอวาทจากสำนักของผู้เป็นสัพพัญญูเช่นตถาคต ทรงวินิจฉัยคดีโดยทำนองคลองธรรมนี้ไม่อัศจรรย์เลย การที่พระราชาทั้งหลายในกาลก่อน ทรงสดับโอวาทของเหล่าบัณฑิต ทั้งที่ไม่ใช่สัพพัญญู แล้วทรงวินิจฉัยโดยทำนองคลองธรรม เว้นอคติสี่อย่าง บำเพ็ญทศพิธราชธรรม ไม่ให้เสื่อมเสีย เสวยราชสมบัติโดยธรรม บำเพ็ญทางสวรรค์ เสด็จไปแล้วนี่แหละน่าอัศจรรย์ พระเจ้าโกศลกราบทูลอาราธนา พระองค์จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่าถวาย
ในอดีตครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระราชานั้น ได้รับการบริหารพระครรภ์เป็นอย่างดี ทรงประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดาโดยสวัสดิภาพ ในวันขนานพระนาม พระชนกชนนีได้ทรงตั้งพระนามของพระโพธิสัตว์ว่า พรหมทัตกุมาร
พรหมทัตกุมารนั้น ได้เจริญวัยขึ้นโดยลำดับ เมื่อพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา เสด็จไปเมืองตักกสิลา ทรงสำเร็จศิลปศาสตร์ทุกแขนง เมื่อพระชนกสวรรคต ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติ ครอบครองราชสมบัติโดยทำนองคลองธรรม ทรงวินิจฉัยคดีไม่ล่วงอคติ มีฉันทาคติเป็นต้น เมื่อพระองค์เสวยราชสมบัติโดยธรรมอย่างนี้ แม้พวกอำมาตย์ต่างก็วินิจฉัยคดีโดยธรรมเหมือนกัน เมื่อคดีทั้งหลายได้รับการวินิจฉัยโดยธรรม จึงไม่มีคดีโกงเกิดขึ้นเพราะไม่มีคดีโกงเหล่านั้น การร้องทุกข์ ณ พระลานหลวง เพื่อให้วินิจฉัยโดยพระราชาก็หมดไป พวกอำมาตย์นั่งบนบัลลังก์วินิจฉัยตลอดวันไม่เห็นใคร ๆ มาเพื่อให้วินิจฉัยคดี ต่างก็ลุกกลับไป สถานที่วินิจฉัยคดีก็ถูกทอดทิ้ง
พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า เมื่อเราครองราชสมบัติโดยธรรมไม่มีผู้คนมาให้วินิจฉัยคดี ไม่มีผู้มาร้องทุกข์ สถานที่วินิจฉัยคดีก็ถูกทอดทิ้ง บัดนี้เราควรตรวจสอบโทษของตน ครั้นเรารู้ว่านี่เป็นโทษของเรา จักละโทษนั้นเสียประพฤติในสิ่งที่เป็นคุณเท่านั้น จำเดิมแต่นั้นมา พระโพธิสัตว์ก็ทรงสำรวจดูว่า จะมีใคร ๆ พูดถึงโทษของเราบ้างหนอ ครั้นไม่ทรงเห็นใคร ๆ กล่าวถึงโทษ ในระหว่างข้าราชบริพารภายใน ทรงสดับแต่คำสรรเสริญคุณของพระองค์ถ่ายเดียว ทรงดำริว่า ชะรอยชนเหล่านี้ เพราะกลัวเราจึงไม่กล้าถึงโทษ กล่าวแต่คุณเท่านั้น จึงทรงสอบข้าราชบริพารภายนอก แม้ในหมู่ข้าราชบริพารเหล่านั้น ก็ไม่ทรงเห็น จึงทรงสอบชาวเมืองภายในพระนคร ทรงสอบชาวบ้านที่ทวารทั้งสี่นอกพระนคร แม้ในที่นั้นก็มิได้ทรงเห็นใคร ๆ กล่าวถึงโทษ ทรงสดับแต่คำสรรเสริญขงพระองค์ถ่ายเดียว จึงทรงดำริว่า เราจักตรวจสอบชาวชนบทดู ทรงมอบราชสมบัติให้เหล่าอำมาตย์ เสด็จขึ้นรถไปกับสารถีเท่านั้น ทรงปลอมพระองค์ไม่ให้ใครรู้จัก เสด็จออกจากพระนคร พยายามสอบถามชาวชนบทจนเสด็จถึงภูมิประเทศชายแดน ก็มิได้ทรงเห็นใคร ๆ กล่าวถึงโทษ ทรงสดับแต่คำสรรเสริญพระคุณ จึงทรงบ่ายพระพักตร์สู่พระนคร เสด็จกลับตามทางหลวงจากเขตชายแดน
ในเวลานั้น แม้พระเจ้าโกศลพระนามว่า พัลลิกะ ก็ทรงครอบครองราชสมบัติโดยธรรม ทรงตรวจสอบหาโทษในบรรดาข้าราชบริพารภายในเป็นต้น มิได้ทรงเห็นใคร ๆ กล่าวถึงโทษเลย ทรงสดับแต่คำสรรเสริญพระคุณของพระองค์เหมือนกันจึงทรงตรวจสอบชาวชนบท ได้เสด็จถึงประเทศนั้น
กษัตริย์ทั้งสองได้ประจันหน้ากันที่ทางเกวียนอันราบลุ่มแห่งหนึ่ง ไม่มีทางที่รถจะหลีกกันได้ สารถีของพระเจ้าพัลลิกะจึงพูดกะสารถีของพระเจ้าพาราณสีว่า "จงหลีกรถของท่าน"
สารถีของพระเจ้าพาราณสีตอบว่า "พ่อมหาจำเริญ ขอให้ท่านหลีกรถของท่านเถิด บนรถนี้มีพระเจ้าพรหมทัตมหาราช ผู้ครอบครองราชสมบัติในกรุงพาราณสีประทับนั่งอยู่"
สารถีอีกฝ่ายหนึ่งก็พูดว่า "พ่อมหาจำเริญ บนรถนี้พระเจ้าพัลลิกะมหาราชผู้ครอบครองราชสมบัติในแคว้นโกศลก็ประทับนั่งอยู่ขอท่านได้โปรดหลีกรถของท่าน แล้วให้โอกาสแก่รถของพระราชาของเราเถิด”
สารถีของพระเจ้าพาราณสีดำริว่า "แม้ผู้ที่นั่งอยู่ในรถนี้ก็เป็นพระราชาเหมือนกัน เราจะควรทำอย่างไรดีหนอ" นึกขึ้นได้ว่า มีอุบายอย่างหนึ่ง เราจักถามถึงวัยให้รถของพระราชาหนุ่มหลีกไป แล้วให้พระราชทานโอกาสแก่พระราชาผู้อาวุโสกว่า ครั้นตกลงใจแล้ว จึงถามถึงวัยของพระเจ้าโกศลกะสารถี แล้วกำหนดไว้ครั้นทราบว่าพระราชาทั้งสองมีวัยเท่ากัน จึงถามถึงปริมาณราชสมบัติ กำลัง ทรัพย์ ยศ ชาติ โคตร ตระกูล ประเทศครั้นทราบว่า ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ครอบครองรัชสีมาประมาณฝ่ายละสามร้อยโยชน์ มีกำลัง ทรัพย์ ยศ ชาติ โคตร ตระกูลและประเทศเท่ากัน แล้วคิดต่อไปว่า เราจักให้โอกาสแก่ผู้มีศีลจึงถามว่า "พ่อมหาจำเริญ ศีลและมรรยาทแห่งพระราชาของท่านเป็นอย่างไร" เมื่อสารถีของพระเจ้าพัลลิกะประกาศสิ่งที่เป็นโทษแห่งพระราชาของตน โดยนึกว่าเป็นคุณ จึงกล่าวคาถาแรกว่า :
พระเจ้าพัลลิกะทรงชนะคนกระด้าง ด้วยความกระด้าง
ทรงชนะคนอ่อนโยนด้วยความอ่อนโยน
ทรงชนะคนดีด้วยความดี
ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความไม่ดี
พระราชาพระองค์นี้เป็นเช่นนั้น
ดูก่อนสารถีท่านจงหลีกทางถวายพระราชาของเราเถิด
ลำดับนั้นสารถีของพระเจ้าพาราณสี กล่าวกะสารถีของพระเจ้าพัลลิกะว่า ท่านกล่าวถึงพระคุณของพระราชาของท่านหรือ เมื่อเขาตอบว่า ใช่แล้ว สารถีของพระเจ้าพัลลิกะจึงกล่าวต่อไปว่า ผิว่าเหล่านี้เป็นพระคุณ สิ่งที่เป็นโทษก็ตามเถิด แต่พระราชาของท่านมีพระคุณเช่นไรเล่า สารถีของพระเจ้าพาราณสีกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง แล้วกล่าวคาถาที่สองว่า :
พระเจ้าพาราณสีทรงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ
ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความดี
ทรงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้
ทรงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำสัตย์
พระราชาพระองค์นี้เป็นเช่นนั้น
ดูก่อนสารถีท่านจงหลีกทางถวายพระราชาของเราเถิด
เมื่อสารถีของพระเจ้าพาราณสีกล่าวอย่างนี้แล้ว พระเจ้าพัลลิกะและสารถีทั้งสองก็เสด็จและลงจากรถปลดม้าถอยรถถวายทางแด่พระเจ้าพาราณสี พระเจ้าพาราณสี ถวายโอวาทแด่พระเจ้าพัลลิกะว่า ธรรมดาพระราชาควรทรงกระทำอย่างนี้ ๆ แล้วเสด็จไปกรุงพาราณสี ทรงกระทำบุญมีให้ทานเป็นต้น ทรงเพิ่มพูนทางสวรรค์ในเวลาสุดสิ้นพระชนม์
แม้พระเจ้าพัลลิกะก็ทรงรับพระโอวาทของพระเจ้าพาราณสี ทรงสอบสวนชาวชนบท เสด็จไปทั่วพระนคร ไม่เห็นมีผู้กล่าวโทษของพระองค์ จึงกระทำบุญมีให้ทานเป็นต้น ทรงเพิ่มพูนทางสวรรค์ในเวลาสุดสิ้นพระชนม์
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาเพื่อทรงถวายโอวาทแด่พระเจ้าโกศล แล้วทรงประชุมชาดกว่า
นายสารถีของพระเจ้าพัลลิกะ ครั้งนั้นได้เป็นพระโมคคัลลานะ
พระเจ้าพัลลิกะ ได้เป็นพระอานนท์
สารถีของพระเจ้าพาราณสี ได้เป็นพระสารีบุตร
ส่วนพระราชาคือ ตถาคตเอง
จบ ราโชวาทชาดก