ขุททกนิกายภาค ๑
เอกนิบาต
๒. สีลวรรค
นิโครธมิคชาดก
ว่าด้วยการเลือกคบ
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุณีผู้เป็นมารดาของพระกุมารกัสสปเถระ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
มารดาของพระเถระนั้น เป็นธิดาของเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ มีกุศลมูลอันสั่งสมมาแต่เดิมเป็นอันมาก กำเนิดมาเป็นปัจฉิมภวิกสัตว์ (สัตว์ผู้มีภพนี้เป็นภพสุดท้าย-จะไม่มาเกิดอีก) มีอุปนิสัยแห่งพระอรหัตอยู่เต็มในหทัยของนาง ครั้งนั้น เมื่อเติบใหญ่แล้วธิดาของเศรษฐีนั้นไม่ยินดีในการครองเรือน มีความประสงค์จะบวชอยู่เป็นนิตย์ จึงกล่าวกะบิดามารดาว่า
“ข้าแต่คุณพ่อและคุณแม่ จิตในของข้าพเจ้าไม่ยินดีในฆราวาส ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะบวชในพระพุทธศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ท่านทั้งหลาย จงให้ข้าพเจ้าบวชเถิด”
บิดามารดากล่าวว่า “แม่ เจ้าพูดอะไรอย่างนั้น ตระกูลเรานี้มีทรัพย์สมบัติมาก และเจ้าก็เป็นธิดาคนเดียวของเราทั้งหลาย เจ้าไม่ควรจะบวช นางแม้จะอ้อนวอนอยู่บ่อย ๆ ก็ไม่ได้อนุญาตให้บรรพชาจากบิดามารดา จึงคิดว่า ช่างเถอะ เราจะรอต่อไปจนกระทั่งเราแต่งงาน เมื่อแต่งงานแล้วเราจะขออนุญาตสามีเพื่อออกบวช”
นางเจริญวัย แต่งงานแล้วไปอยู่ในตระกูลของสามี ซึ่งเป็นผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมครองเหย้าเรือน ต่อมานางก็ตั้งครรภ์ โดยที่นางไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ในครั้งนั้น ก็เกิดมีงานนักขัตฤกษ์ขึ้นในพระนครเป็นงานใหญ่ ชาวพระนครทั้งสิ้นพากันเล่นงานนักขัตฤกษ์ ทั่วทั้งพระนครก็ได้มีการประดับประดาตกแต่งเหมือนดังเทพนคร แม้งานนักขัตฤกษ์นั้นจะยิ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น แต่นางก็ไม่สนใจประดับประดาร่างกายตนให้สวยงาม เที่ยวไปด้วยการแต่งกายตามปรกตินั่นเอง สามีจึงกล่าวกะนางว่า
“นี่เธอ พระนครทั้งสิ้นมีงานนักขัตฤกษ์ที่ยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ แต่เธอไม่ปฏิบัติร่างกาย ไม่ทำการตกแต่ง เพราะเหตุใดหรือ ?”
นางจึงกล่าวว่า “ข้าแต่พี่ท่าน ร่างกายนั้นเต็มด้วยซากศพ ๓๒ ประการทีเดียว ประโยชน์อะไรด้วยร่างกายนี้ที่ประดับแล้ว เพราะกายนี้ เทวดา พรหมไม่ได้นิรมิต ไม่ใช่สำเร็จด้วยทองด้วยแก้วมณี แต่เต็มไปด้วยคูถ ไม่สะอาด มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด มีการขัดสีและการนวดฟั้นเป็นนิตย์ และมีการแตกทำลายและการกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา เป็นเหตุแห่งความโศก เป็นที่อยู่อาศัยแห่งโรคทั้งปวง เป็นที่รับของเสียภายใน ไหลออกภายนอกเป็นนิตย์ เป็นที่อยู่ของหมู่หนอนหลายตระกูลมีความตายเป็นที่สุด
ข้าแต่พี่ท่าน ข้าพเจ้าจักประดับประดาร่างกายนี้ไปเพื่ออะไร การกระทำความประดับกายนี้ ย่อมเหมือนกระทำจิตรกรรมภายนอกหม้อ คูถ”
เศรษฐีบุตรได้ฟังคำของนางดังนั้นจึงกล่าวว่า “เธอเห็นโทษทั้งหลายแห่งร่างกายนี้ เพราะเหตุใดจึงไม่บวช”
นางกล่าวว่า “ข้าแต่พี่ท่าน ถ้าท่านยอมให้ข้าพเจ้าได้บวช ก็จะบวชวันนี้แหละ”
เศรษฐีบุตรกล่าวว่า “ดีแล้ว ฉันจักให้เธอบวช” แล้วจึงบำเพ็ญมหาทาน แล้วนำไปสำนักของภิกษุณีด้วยบริขารเป็นอันมาก
นางได้บวชในสำนักของภิกษุณีผู้เป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัต ครั้งนั้น เมื่อครรภ์ของนางแก่แล้ว ภิกษุณีทั้งหลายเห็นความที่อินทรีย์ทั้งหลายแปรเป็นอื่นไป ความที่หลังมือและเท้าบวม และความที่ท้องใหญ่ขึ้น จึงถามนางว่า
“นี่รูปร่างเธอเหมือนสตรีมีครรภ์ นี่เป็นเรื่องอย่างไรกัน ?”
ภิกษุณีนั้นกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าก็ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องใด แต่ศีลของข้าพเจ้ายังบริบูรณ์อยู่”
ลำดับนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นจึงนำนางภิกษุนั้นไปยังสำนักของพระเทวทัต ถามพระเทวทัตว่า
“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า กุลธิดานี้ไม่สามารถทำให้สามีโปรดปรานได้จึงได้บรรพชา ก็บัดนี้ ครรภ์ของนางปรากฏ ข้าพเจ้าทั้งหลายย่อมไม่รู้ว่ากุลธิดานี้ได้ตั้งครรภ์ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ หรือในเวลาบวชแล้ว บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายจะกระทำอย่างไร”
เพราะความที่ตนไม่รู้ และเพราะขาดขันติ เมตตา และความเอ็นดู พระเทวทัตจึงคิดอย่างนี้ว่า ความครหานินทาจักเกิดแก่เราว่า ภิกษุณีผู้อยู่ในฝ่ายของพระเทวทัตมีครรภ์ แต่พระเทวทัตกลับเพิกเฉยเสีย เราให้ภิกษุณีนี้สึกจึงจะควร พระเทวทัตนั้นก็ไม่ได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนรอบคอบ กล่าวว่า
“พวกท่านจงให้ภิกษุณีนั้นสึกเสีย”
ภิกษุณีเหล่านั้นฟังคำของพระเทวทัตแล้ว ลุกขึ้นไหว้แล้วไปยังสำนัก
ภิกษุณีสาวเมื่อทราบว่าพระเทวทัตตัดสินให้ตนสึกเสียจากเพศบรรพชิต จึงกล่าวกะภิกษุณีทั้งหลายว่า
“ท่านทั้งหลาย พระเทวทัตเถระไม่ใช่พระพุทธเจ้า เรามิได้บรรพชาในสำนักของพระเทวทัต เราบรรพชาในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นบุคคลเลิศในโลก อีกประการหนึ่ง การบรรพชาของเรานั้นกว่าจะเกิดขึ้นได้ก็ยากยิ่งนัก ท่านทั้งหลายอย่าทำให้การบรรพชานั้นอันตรธานหายไปเสียเลย มาเถิดท่านทั้งหลาย จงพาเราไปยังพระเชตวัน ในสำนักของพระศาสดา”
ภิกษุณีทั้งหลายจึงพาภิกษุณีสาวนั้นไปจากกรุงราชคฤห์สิ้นหนทาง ๔๕ โยชน์ถึงพระเชตวันมหาวิหารโดยลำดับ ถวายบังคมพระศาสดาแล้วกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ.
พระศาสดาทรงทราบว่า ภิกษุณีนี้ตั้งครรภ์ในเวลาเป็นคฤหัสถ์เป็นแน่ แต่ถึงเป็นอย่างนั้น พวกเดียรถีย์จักได้โอกาสว่า พระสมณโคดมพาภิกษุณีที่พระเทวทัตทิ้งแล้วเที่ยวไปอยู่ เพราะฉะนั้น เพื่อจะตัดถ้อยคำนี้ ควรจะวินิจฉัยอธิกรณ์นี้ในท่ามกลางบริษัทซึ่งมีพระราชาอยู่ด้วย
ในวันรุ่งขึ้น จึงให้ทูลเชิญพระเจ้าโกศล และเชิญมหาอนาถบิณฑิกเศรษฐี จุลอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขามหาอุบาสิกา และตระกูลใหญ่ ๆ อื่น ๆ ที่มีชื่อเสียง ครั้นในเวลาเย็น เมื่อบริษัททั้ง ๔ ประชุมกันแล้ว จึงตรัสเรียกพระอุบาลีเถระมาว่า
“เธอจงไปชำระกรรมของภิกษุณีสาวนี้ ในท่ามกลางบริษัท ๔”
พระเถระทูลรับพระดำรัสแล้ว จึงไปยังท่ามกลางบริษัท นั่งบนอาสนะที่เขาตกแต่งไว้เพื่อตน แล้วให้เรียกนางวิสาขาอุบาสิกามาตรงเบื้องพระพักตร์ของพระราชา ให้รับอธิกรณ์นี้ว่า
“ดูก่อนวิสาขา ท่านจงไป จงทำให้รู้โดยถ่องแท้ว่า ภิกษุณีสาวนั้นบวชในเดือนโน้น วันโน้น แล้วจงรู้ว่าเธอมีครรภ์นี้ก่อนหรือหลังบวช”
มหาอุบาสิการับคำแล้วจึงให้กั้นม่านขึ้น นางและนางภิกษุณีสาวนั้นอยู่ในม่าน นางได้ตรวจดูที่สุดมือ เท้า สะดือ และท้องของภิกษุณีสาว ภายในม่าน นับเดือนและวัน รู้ว่านางได้ตั้งครรภ์ในภาวะเป็นคฤหัสถ์โดยถ่องแท้ จึงไปยังสำนักของพระเถระแล้วบอกเนื้อความนั้น ครั้งนั้น พระเถระได้ทำให้ความเป็นผู้บริสุทธิ์ของนาง ให้ปรากฏขึ้นในท่ามกลางบริษัทแล้ว พระศาสดาได้ทรงสดับเรื่องนั้นแล้วตรัสประทานสาธุการว่า
“ท่านพระอุบาลีวินิจฉัยอธิกรณ์ถูกต้องดีแล้ว”
นางภิกษุณีนั้นเมื่อเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วจึงไหว้ภิกษุสงฆ์และถวายบังคมพระศาสดา แล้วไปยังสำนักนั่นแล พร้อมกับภิกษุณีทั้งหลาย ต่อมา เมื่อนางภิกษุณีครรภ์แก่แล้ว ได้คลอดบุตรผู้มีอานุภาพมาก
ครั้นวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปโดยใกล้ ๆ สำนักของภิกษุณี ได้ทรงสดับเสียงทารก จึงตรัสถามอำมาตย์ทั้งหลาย อำมาตย์ทั้งหลายรู้เหตุนั้นจึงกราบทูลว่า
“ข้าแต่สมมติเทพ ภิกษุณีสาวนั้นคลอดบุตรแล้ว นั่นเสียงของบุตรภิกษุณีสาวนั้นนั่นเอง”
พระราชาตรัสว่า “แน่ะอำมาตย์ ชื่อว่าการปรนนิบัติทารกเป็นเครื่องกังวลสำหรับภิกษุณีทั้งหลาย พวกเราจักปรนนิบัติทารกนั้นเอง.”
พระราชาทรงให้มอบทารกนั้นแก่หญิงฟ้อนทั้งหลาย ให้เติบโตโดยการบริหารดูแลอย่างกุมาร ก็ในวันตั้งชื่อกุมารนั้น ได้ตั้งชื่อว่ากัสสป ในเวลามีอายุ ๗ ขวบ กุมารกัสสปนั้นก็ได้บวชในสำนักของพระศาสดา พอมีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ก็ได้อุปสมบท แต่เพราะท่านบวชเวลายังเป็นเด็กรุ่น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
“พวกเธอจงเรียกกัสสปมา จงให้ผลไม้หรือของขบฉันอันนี้แก่กัสสป”
พวกภิกษุสงสัยก็ทูลถามว่า “กัสสปองค์ไหน พระเจ้าข้า”
ตรัสว่า “กุมารกัสสป กัสสปองค์เด็ก นะสิ”
เพราะได้รับขนานนามอย่างนี้ ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็ถูกเรียกว่า กุมารกัสสป แม้ในเวลาที่ท่านแก่เฒ่าแล้ว อีกนัยหนึ่ง คนทั้งหลาย จำหมายท่านว่ากุมารกัสสป เพราะเหตุที่เป็นบุตรชุบเลี้ยงของพระราชาก็มี
อยู่มาวันหนึ่ง พระตถาคตเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายแล้วเสด็จเข้าพระคันธกุฎี ภิกษุทั้งหลายรับพระโอวาทแล้ว ปฏิบัติธรรมอยู่ในที่พักของตน ในเวลาเย็น จึงมาประชุมกันในโรงธรรมสภา นั่งพรรณนาพระพุทธคุณว่า
“ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตทำคนทั้งสอง คือ พระกุมารกัสสปเถระและพระเถรีให้พินาศ เพราะความที่ตนไม่รู้ และเพราะความไม่มีขันติและเมตตาเป็นต้น แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นปัจจัยแก่ท่านทั้งสองนั้น เพราะพระองค์เป็นพระธรรมราชา และเพราะทรงถึงพร้อมด้วยขันติพระเมตตา และความเอ็นดู”
พระศาสดาเสด็จมายังโรงธรรมสภา ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ แล้วตรัสถามว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ ?”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าด้วยเรื่องพระคุณของพระองค์เท่านั้น แล้วกราบทูลเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบพระศาสดาตรัสว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นปัจจัยและเป็นที่พึงแก่ชนทั้งสองนี้ ในบัดนี้เท่านั้นหามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็ได้เป็นแล้วเหมือนกัน.”
ภิกษุทั้งหลายจึงทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อต้องการให้เรื่องนั้นแจ่มแจ้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงชาดกเรื่อง นิโครธมิคชาดก ไว้ดังนี้.
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในกำเนิดมฤคชาติ มีชื่อว่า นิโครธมิคราช มีสีกายเหมือนดังสีทอง นัยน์ตาทั้งสองเป็นเช่นกับลูกแก้วมณีกลม เขาทั้งคู่มีสีดังเงินบริสุทธิ์ หน้ามีแดงดังผ้ากัมพลแดง ปลายเท้าหน้าและเท้าหลัง แดงเข้มเหมือนชุบด้วยนํ้าครั่ง ขนหางงามเหมือนขนจามรี รูปร่างใหญ่โตเท่าลูกม้า มีเนื้อจำนวน ๕๐๐ เป็นบริวาร ในที่ไม่ไกลจากแดนหากินของพระยาเนื้อนิโครธนั้น ก็มีพระยาเนื้อชื่อสาขะ ซึ่งมีผิวงามดังทองเช่นกัน มีเนื้ออีก ๕๐๐ เป็นบริวาร
พระเจ้าพาราณสีนั้นเป็นผู้ติดในรสเนื้อ วันไหนไม่มีมีเนื้อก็ไม่ทรงเสวย ทรงขวนขวายในการออกล่าเนื้อทุกวัน ต้องกะเกณฑ์ชาวหมู่บ้านต่าง ๆ ให้ออกล่าเนื้อจนชาวหมู่บ้านเหล่านั้นไม่เป็นอันทำงาน จนกระทั่งวันหนึ่ง พวกชาวนิคมและชนบททั้งหมดก็สิ้นสุดความอดทนมาประชุมกันแล้วปรึกษากันว่า
“พวกเราวางเหยื่อของเนื้อไว้ในพระราชอุทยาน ต้อนฝูงเนื้อให้เข้าไปยังพระราชอุทยานแล้วปิดประตู มอบเนื้อเหล่านั้นถวายแก่พระราชา”
เมื่อประชุมตกลงกันดังนั้นแล้ว ชนเหล่านั้นจึงปลูกผักที่เป็นเหยื่อของเนื้อไว้ในพระราชอุทยาน จัดหาแหล่งนํ้าไว้ให้พร้อม แล้วสร้างประตู ถือบ่วง มือถืออาวุธนานาชนิดมีค้อนเป็นต้น เข้าป่าแสวงหาเนื้อ คิดว่า พวกเราจักจับเนื้อทั้งหลายที่อยู่ตรงกลาง จึงล้อมที่ประมาณ ๑ โยชน์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของเนื้อนิโครธและเนื้อสาขะ ครั้นเห็นหมู่เนื้อนั้นจึงเอาไม้ค้อนตีต้นไม้ พุ่มไม้เป็นต้น และตีพื้นดิน ไล่หมู่เนื้อออกจากที่รกชัฏ พากันเงื้ออาวุธทั้งหลายมีดาบ หอกและธนูเป็นต้น ส่งเสียงดัง ต้อนหมู่เนื้อนั้นให้เข้าพระราชอุทยานแล้วปิดประตู พากันเข้าไปเฝ้าพระราชาแล้วกราบทูลว่า
“ข้าแต่สมมติเทพ พวกข้าพระองค์ต้อนเนื้อทั้งหลายมาจากป่าเต็มพระราชอุทยานของพระองค์ ตั้งแต่นี้ไป พระองค์จะได้เสวยเนื้อของมฤคเหล่านั้น” แล้วทูลลาพระราชาพากันกลับไป
พระราชาได้ทรงสดับคำของมนุษย์เหล่านั้น แล้วเสด็จไปพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเนื้อทั้งหลาย ทรงเห็นพระยาเนื้อสีทองทั้ง ๒ ตัว ก็ทรงเกิดพระกรุณา จึงได้พระราชทานอภัยแก่เนื้อทั้งสองนั้น ก็ตั้งแต่นั้นมา บางคราวก็เสด็จไปเองทรงฆ่าเนื้อตัวหนึ่งแล้วนำมาปรุงเป็นพระกระยาหารเสวย บางคราวพ่อครัวของพระองค์ไปฆ่าแล้วนำมา เนื้อทั้งหลายพอเห็นธนูเท่านั้นก็เกิดความกลัวตาย พากันหนีไป พวกที่ไม่ถูกล่าก็เกิดลำบากไปบ้าง ป่วยไปบ้าง ถึงความตายบ้าง หมู่เนื้อจึงบอกเหตุนั้นแก่พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ให้เรียกพระยาเนื้อสาขะมาแล้วกล่าวว่า
“ดูก่อนสหาย เนื้อเป็นอันมากพากันลำบาก ต้องตกอยู่ในความหวาดกลัว ก็เมื่อเนื้อมีอันจะต้องตายเพียงวันละตัวเท่านั้น ตั้งแต่นี้ไป ก็จงจัดเวรให้เนื้อที่ถึงคราวจะตายจงไปนอนพาดหัวที่เขียงไม้ค้อนของเพชฌฆาต โดยเป็นเวรของบริวารของท่านวันหนึ่ง เป็นเวรของบริวารของเราวันหนึ่ง เมื่อเป็นอย่างนั้น เนื้ออื่น ๆ ทั้งหลายจักไม่ต้องหวาดกลัว” เนื้อสาขะก็รับคำ
ตั้งแต่นั้นมา เนื้อที่ถึงเวรก็จะไปนอนพาดคอที่ไม้ค้อนเพชฌฆาต แล้วพ่อครัวก็จะมาจับเอาเนื้อตัวที่นอนอยู่ ณ ที่นั้นนั่นแหละไป อยู่มาวันหนึ่ง วาระถึงแก่แม่เนื้อผู้มีครรภ์ตัวหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทของเนื้อสาขะ แม่เนื้อนั้นเข้าไปหาเนื้อสาขะแล้วกล่าวว่า
“เจ้านาย ข้าพเจ้ามีครรภ์ คลอดลูกแล้วพวกเราทั้งสองจะไปตามวาระ ท่านจงให้ข้ามวาระของข้าพเจ้าไปก่อน”
เนื้อสาขะกล่าวว่า “เราไม่อาจทำวาระของเจ้าให้ถึงแก่เนื้อตัวอื่น ๆ มีแต่ตัวเจ้าเท่านั้นที่รู้ว่า เจ้ามีบุตร เจ้าจงไปเถอะ”
แม่เนื้อนั้นเมื่อไม่ได้ความช่วยเหลือจากสำนักของเนื้อสาขะ จึงเข้าไปหาพระโพธิสัตว์บอกเนื้อความนั้น พระโพธิสัตว์นั้นได้ฟังคำของแม่เนื้อนั้นจึงคิดว่า ก็พระโพธิสัตว์ทั้งหลายในกาลก่อน เห็นทุกข์ของคนอื่น ย่อมไม่ห่วงใยชีวิตของตน
ครั้นคิดดังนี้แล้วจึงกล่าวว่า “เจ้าจงไปเถอะ เราจักให้วาระของเจ้าข้ามไป”
ครั้นกล่าวแล้ว ตนเองก็ไปนอนกระทำศีรษะไว้ที่ค้อนเพชฌฆาต พ่อครัวเห็นดังนั้นจึงคิดว่า นี่เป็นพระยาเนื้อผู้ได้รับพระราชทานอภัย มานอนอยู่ที่ไม้ค้อนเพชฌฆาตด้วยเหตุอะไรหนอ จึงรีบไปกราบทูลพระราชา พระราชาเสด็จขึ้นทรงรถในทันใดนั้นเอง เสด็จไปด้วยบริวารใหญ่เห็นพระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า
“พระยาเนื้อผู้สหาย เราให้อภัยแก่ท่านไว้แล้วมิใช่หรือ เพราะเหตุไรท่านจึงนอนอยู่ ณ ที่นี้”
พระยาเนื้อกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช แม่เนื้อผู้มีครรภ์มากล่าวว่า ขอท่านจงยังวาระของฉันให้ถึงแก่เนื้อตัวอื่น ก็ข้าพระบาทไม่อาจโยนมรณทุกข์ของเนื้อตัวหนึ่งไปยังเนื้อตัวอื่นได้ ข้าพระบาทนั้นจึงให้ชีวิตของตนแก่แม่เนื้อนั้น แล้วจึงนอนอยู่ ณ ที่นี้ ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์อย่าได้ทรงระแวงเหตุอะไร ๆ อย่างอื่นเลย”
พระราชาตรัสว่า “ดูก่อนสุวรรณมิคราชผู้เป็นนาย แม้ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย เราก็ไม่เคยเห็นคนผู้เพียบพร้อมด้วยขันติ เมตตา และความเอ็นดูเช่นกับท่าน ด้วยเหตุนั้น เราจึงเสื่อมใสท่าน ลุกขึ้นเถิดเราให้อภัยแก่ท่านและแก่แม่เนื้อนั้น”
พระยาเนื้อกล่าวว่า “ข้าแต่พระผู้จอมคน เมื่อข้าพระบาททั้งสองได้อภัยแล้ว เนื้อที่เหลือนอกนั้นจักทำอย่างไร”
พระราชาตรัสว่า “นาย เราให้อภัยแม้แก่เนื้อที่เหลือด้วย”
พระยาเนื้อกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช แม้เมื่อเป็นอย่างนั้นเนื้อทั้งหลายในพระราชอุทยานเท่านั้น จักได้อภัย เนื้อที่เหลือจักทรงกระทำอย่างไร”
พระราชาตรัสว่า “นาย เราให้อภัยแก่เนื้อแม้เหล่านั้น”
พระยาเนื้อกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช เมื่อเนื้อทั้งหลายได้รับอภัยแล้ว สัตว์ ๔ เท้าที่เหลือจักทำอย่างไร”
พระราชาตรัสว่า “นาย เราให้อภัยแก่สัตว์ ๔ เท้าแม้เหล่านั้น”
พระยาเนื้อกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช สัตว์ ๔ เท้าได้รับพระราชทานอภัยก่อน หมู่นกจักทำอย่างไร”
พระราชาตรัส “นาย แม้หมู่นกเหล่านั้นเราก็ให้อภัย”
พระยาเนื้อกราบทูลว่า “เบื้องตัน หมู่นกจักได้รับพระราชทานอภัย พวกปลาที่อยู่ในนํ้าจักกระทำอย่างไร”
พระราชาตรัสว่า “นาย แม้หมู่ปลาเหล่านั้น เราก็ให้อภัย”
พระมหาสัตว์ทูลขออภัยแก่สรรพสัตว์กะพระราชาอย่างนี้แล้ว ได้ลุกขึ้นยืนให้พระราชาดำรงอยู่ในศีล ๕ แล้วแสดงธรรมแก่พระราชาด้วยลีลาของพระพุทธเจ้าว่า
“ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงประพฤติธรรมในพระชนกชนนี ในพระโอรสพระธิดา ในพราหมณ์คฤหบดี ในชาวนิคมและชาวชนบท เมื่อทรงประพฤติธรรมประพฤติสมํ่าเสมออยู่ เบื้องหน้าเมื่อสวรรคตก็จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้” แล้วอยู่ในอุทยาน ๒-๓ วัน ให้โอวาทแก่พระราชาแล้ว
แม่เนื้อนมนั้นก็ตกลูกออกมา ลูกเนื้อนั้นเมื่อโตแล้ว เล่นได้ ก็จะไปยังสำนักของเนื้อสาขะ ลำดับนั้น มารดาเห็นลูกเนื้อนั้นกำลังจะไปยังสำนักของเนื้อสาขะนั้น จึงกล่าวว่า
“ลูกเอ๋ย ตั้งแต่นี้ไปเจ้าอย่าไปยังสำนักของเนื้อสาขะนั่น เจ้าพึงไปสำนักของเนื้อนิโครธเท่านั้น” เมื่อจะโอวาทจึงกล่าวคาถาว่า
เจ้าหรือคนอื่นก็ตาม พึงคบหาแต่พระยาเนื้อชื่อว่านิโครธเท่านั้น
ไม่ควรเข้าไปอาศัยอยู่กับพระยาเนื้อชื่อว่าสาขะ
ความตายในสำนักของพระยาเนื้อชื่อว่านิโครธประเสริฐกว่า
การมีชีวิตอยู่ในสำนักพระยาเนื้อสาขะ จะประเสริฐอะไร.
ก็จำเดิมแต่นั้น พวกเนื้อที่ได้อภัยพากันกินข้าวกล้าของพวกมนุษย์ มนุษย์ทั้งหลายไม่อาจตีหรือไล่เนื้อทั้งหลายด้วยคิดว่า เนื้อเหล่านี้ได้รับพระราชทานอภัย จึงพากันประชุมที่พระลานหลวง กราบทูลความนั้นแด่พระราชา
พระราชาตรัสว่า “เรามีความเลื่อมใสให้แก่พระยาเนื้อชื่อว่านิโครธ เราถึงจะละราชสมบัติ ก็จะไม่ทำลายปฏิญญานั้น ท่านทั้งหลายจงไปเถิด ใคร ๆ ย่อมประหารเนื้อทั้งหลายในแว่นแคว้นของเราไม่ได้”
พระยาเนื้อนิโครธได้สดับเหตุการณ์นั้น จึงให้หมู่เนื้อประชุมกัน แจ้งแก่เนื้อทั้งหลายว่า ตั้งแต่นี้ไปท่านทั้งหลายอย่าได้กินข้าวกล้าของคนอื่น แล้วบอกแก่มนุษย์ทั้งหลายว่า ตั้งแต่นี้ไปมนุษย์ทั้งหลายผู้กระทำข้าวกล้า จงอย่าทำรั้วเพื่อจะรักษาข้าวกล้า แต่จงทำสัญลักษณ์ด้วยใบไม้ปักไว้ริมนา ตั้งแต่นั้นมา จึงเกิดการทำสัญลักษณ์เป็นใบไม้ขึ้นในนาทั้งหลาย
พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นที่พึ่งอาศัยของพระเถรีและพระกุมารกัสสป ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อนก็ได้เป็นที่พึงอาศัยแล้วเหมือนกัน” ก็ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
เนื้อชื่อสาขะในครั้งนั้น ได้เป็นพระเทวทัต
แม้บริษัทของเนื้อสาขะนั้น ก็ได้เป็นบริษัทของพระเทวทัตนั่นแหละ
แม่เนื้อในครั้งนั้น ได้เป็นพระเถรี
ลูกเนื้อในครั้งนั้นได้เป็นพระกุมารกัสสป
พระราชาได้เป็นอานนท์
ส่วนพระยาเนื้อชื่อว่านิโครธ ได้เป็นเราเองแล.