Thai Chinese (Traditional) English French Italian Portuguese Russian
พระพุทธศักดิ์สิทธิ์ วัดโพรงจระเข้
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สืบทอดพระพุทธศาสนา
นำทางสู่การพ้นทุกข์

 

ขุททกนิกายภาค ๑

เอกนิบาต

๑๐. ลิตตวรรค

โลมหังสชาดก

ว่าด้วยการแสวงหาอย่างประเสริฐ

พระศาสดาทรงอาศัยพระนครเวสาลี ประทับอยู่ ณ ปาฏิการาม ทรงปรารภท่านพระสุนักขัตตะ ตรัสพระธรรม เทศนานี้ ดังนี้.

ความพิสดารว่า สมัยหนึ่งท่านพระสุนักขัตตะเป็นผู้อุปัฏฐากพระศาสดา ถือบาตรจีวรตามเสด็จไป เกิดพอใจธรรมของโกรักขัตติยปริพาชก ถวายบาตรจีวรคืนพระทศพล ไปอาศัยโกรักขัตติยปริพาชก เมื่อโกรักขัตติยปริพาชกสิ้นชีวิตลงนั้นไปเกิดในอสูรพวกกาลัญชิกะ เขาจึงสึกเป็นคฤหัสถ์ แล้วเที่ยวกล่าวติโทษพระศาสดา ตามแนวกำแพงทั้ง ๓ ในพระนครเวสาลีว่า “อุตตริมนุษยธรรม คือญาณทัสสนอันวิเศษของพระสมณโคดม ไม่มีดอก พระสมณโคดมแสดงธรรมที่ตนกำหนดนึกเอาเอง ค้นคว้าเอาตามที่สอบสวน เป็นปฏิภาณของตนเอง และธรรมที่พระสมณโคดมแสดงนั้นเล่า ก็มิได้นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ปฏิบัติตามคราวนั้น”

ท่านพระสารีบุตรเถระเจ้า เที่ยวบิณฑบาต ได้ยินเขากล่าวติโทษเรื่อยมา เมื่อท่านกลับจากบิณฑบาตแล้ว ก็กราบทูลข้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนสารีบุตร สุนักขัตตะเป็นคนมักโกรธ เป็นโมฆบุรุษ กล่าวอย่างนี้ด้วยอำนาจความโกรธเท่านั้น กล่าวอยู่ว่า ธรรมนั้นมิได้นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ปฏิบัติตามนั้นดังนี้ แม้ต้องอำนาจแห่งความโกรธมาก เพราะเหตุที่ไม่รู้จริงจึงกล่าวโทษเราอยู่ตลอดเวลา ก็เขาเป็นโมฆบุรุษ จึงไม่รู้คุณของเราเลย”

“ดูก่อนสารีบุตร ที่แท้คุณพิเศษที่ชื่อว่า อภิญญา ๖ ของเราก็มี แม้ข้อนี้ก็เป็นอุตตริมนุษยธรรมของเราเหมือนกัน พล ๑๐ ก็มี เวสารัชชญาณ ๔ ประการก็มี ญาณที่จะกำหนดรู้กำเนิดทั้ง ๔ ก็มี ญาณที่จะกำหนดรู้คติทั้ง ๕ ก็มี แม้ข้อนี้ก็เป็นอุตตริมนุษยธรรมของเราเหมือนกัน ก็ผู้ใดกล่าวว่า เราผู้ถึงพร้อมด้วยอุตตริมนุษยธรรมอย่างนี้ว่า อุตตริมนุสสธรรมของพระสมณโคดมไม่มีดอก ผู้นั้นไม่ละคำนั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่ถอนคืนความเห็นนั้น ย่อมถูกฝังในนรก”

ครั้นตรัสพระคุณแห่งอุตตริมนุษยธรรมที่มีในพระองค์อย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า “ดูก่อนสารีบุตร ได้ยินว่า สุนักขัตตะ เลื่อมใสในมิจฉาตบะของโกรักขัตติยะ เมื่อเลื่อมใสอยู่ ก็ไม่สมควรจะเลื่อมใสในเราทีเดียว ที่จริงในที่สุดแห่งกัป ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราทดลองมิจฉาตบะของลัทธิภายนอก เพื่อจะรู้ว่าสาระในตบะนั้นมีจริงหรือไม่ อยู่บำเพ็ญพรหมจรรย์อันประกอบด้วยองค์ ๔ เรากล่าวได้ว่า เป็นผู้เรืองตบะ เรืองตบะอย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้เศร้าหมอง เศร้าหมองอย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้น่าเกลียด น่าเกลียดอย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้เงียบ เงียบอย่างยอดเยี่ยม ดังนี้” ครั้นเมื่อพระเถระเจ้ากราบทูลอาราธนา พระบรมศาสดาจึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :

ในอดีตกาลที่สุดแห่งกัปที่ ๙๑ พระโพธิสัตว์ดำริว่า เราจักทดลองตบะของพวกนอกลู่นอกทางดู จึงบวชเป็นอาชีวก ไม่นุ่งผ้า คลุกเคล้าด้วยธุลี เงียบ ไม่พูดกับใคร อยู่คนเดียว เห็นพวกมนุษย์แล้ว ต้องวิ่งหนีเหมือนมฤค มีมหาวิกัติเป็นโภชนะ บริโภคมูลแห่งลูกโคเป็นต้น เพื่อจะอยู่ด้วยความไม่ประมาท จึงอยู่ในไพรสณฑ์เปลี่ยวตำบลหนึ่งในราวไพร เมื่ออยู่ในถิ่นนั้น เวลาหิมะตกตอนกลางคืน ออกจากไพรสณฑ์อยู่กลางแจ้ง ชุ่มโชกด้วยน้ำหิมะ เวลากลางวันก็ทำนองเดียวกัน ให้ตนชุ่มโชกด้วยหยาดน้ำที่ไหลจากไพรสณฑ์ เสวยทุกข์แต่ความหนาว ทั้งกลางวันกลางคืน อยู่อย่างนี้ อนึ่งในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน ตอนกลางวันก็ถึงความรุ่มร้อนด้วยแสงแดด ณ ที่โล่ง กลางคืนก็อย่างนั้นเหมือนกัน ถึงความรุ่มร้อนอยู่ในไพรสณฑ์ที่ปราศจากลม หยาดเหงื่อไหลออกจากสรีระ ครั้งนั้น คาถานี้ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย ได้ปรากฏแจ่มแจ้งว่า :

"เราเร่าร้อนแล้ว หนาวเหน็บแล้ว อยู่ผู้เดียวในป่าอันน่าสะพรึงกลัว

เป็นคนเปลือย ไม่ได้ผิงไฟ เป็นมุนีขวนขวายแล้ว ในการแสวงบุญ"

ดังนี้.

ก็พระโพธิสัตว์ประพฤติพรหมจรรย์ประกอบด้วยองค์ ๔ อย่างนี้ เล็งเห็นลางนรกปรากฏชัดขึ้นในเวลารุ่งอรุณ ก็ทราบว่า การสมาทานวัตรนี้ไร้ประโยชน์ จึงทำลายลัทธินั้นเสียในขณะนั้นเอง กลับถือสัมมาทิฏฐิ เมื่อสิ้นชีวิตก็บังเกิดในเทวโลก

พระบรมศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า

สมัยนั้นเราตถาคตได้เป็นอาชีวกนั้นแล.

จบ โลมหังสชาดก

อรรถกถาชาดกพระเจ้า 547 พระชาติ

เชิญร่วมบุญ