Thai Chinese (Traditional) English French Italian Portuguese Russian
พระพุทธศักดิ์สิทธิ์ วัดโพรงจระเข้
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สืบทอดพระพุทธศาสนา
นำทางสู่การพ้นทุกข์

 

ขุททกนิกายภาค ๑

เอกนิบาต

๖. อาสิงสวรรค

จุฬชนกชาดก

เป็นคนควรพยายามร่ำไป

พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้มีความเพียรย่อหย่อนเหมือนกัน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.

เรื่องที่จะกล่าวในชาดกนี้นั้นทั้งหมด จักมีแจ้งใน มหาชนกชาดก.

ก็พระราชาประทับนั่งภายใต้พระเศวตรฉัตร แล้วตรัส พระคาถานี้ ความว่า

"บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงพยายามร่ำไป ไม่พึงเบื่อหน่าย

เราประจักษ์ด้วยตนเอง ที่ว่ายน้ำขึ้นบกได้" ดังนี้.

บัดนี้ ภิกษุผู้มีความเพียรย่อหย่อน บรรลุพระอรหัตผล แล้ว พระเจ้าชนกราช ได้มาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนี้แล.

จบ จูฬชนกชาดก

มหาชนกชาดก

พระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยบารมี 

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภมหาภิเนกขัมมบารมี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ดังนี้

ความพิสดารว่า วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งพรรณนามหาภิเนกขัมมบารมีของพระตถาคต ในโรงธรรมสภา พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลายประชุมเจรจากันถึงเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ตถาคตออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ แม้ในกาลก่อน เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ตถาคตก็ได้ออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่เหมือนกัน ตรัสดังนี้แล้วทรงดุษณีภาพอยู่ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลวิงวอนให้ทรงเล่าเรื่อง จึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล พระราชาพระนามว่ามหาชนก ครองราชสมบัติในกรุงมิถิลา แคว้นวิเทหะ พระเจ้ามหาชนกราชนั้น มีพระราชโอรสสองพระองค์คือ อริฏฐชนกพระองค์หนึ่ง โปลชนกพระองค์หนึ่งในสองพระองค์นั้น พระราชาพระราชทานตำแหน่งอุปราชแก่พระราชโอรสองค์พี่ พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่พระราชโอรสองค์น้อง

กาลต่อมาพระมหาชนกราชสวรรคต พระอริฏฐชนกได้ครองราชสมบัติ ทรงตั้งพระโปลชนกผู้กนิษฐภาดาเป็นอุปราช อำมาตย์คนหนึ่งผู้ใกล้ชิดพระราชาไปเฝ้าพระราชากราบทูลยุยงว่าพระอุปราชใคร่จะปลงพระชนม์พระองค์ พระอริฏฐชนกราชทรงสดับคำบ่อย ๆ เข้าก็เชื่อในคำเพ็ดทูลดังกล่าว หมดความสิเนหาในพระอนุชา ให้จองจำพระโปลชนกมหาอุปราชไว้ในคฤหาสน์หลังหนึ่งใกล้พระราชนิเวศ มีผู้คุมรักษาอย่างแข็งแรง

พระกุมารโปลชนกทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าข้าพเจ้าก่อเวรต่อพระเชษฐา เครื่องจองจำจงอย่าหลุดจากมือและเท้าของข้าพเจ้า แม้ประตูก็จงอย่าเปิด ถ้าข้าพเจ้ามิได้ก่อเวรต่อพระเชษฐา เครื่องจองจำจงหลุดจากมือและเท้าของข้าพเจ้า แม้ประตูก็จงเปิด ในทันใดนั้นเครื่องจองจำได้หักเป็นท่อน ๆ แม้ประตูก็เปิดออก ต่อนั้นพระโปลชนกก็เสด็จออกไปยังปัจจันตคามแห่งหนึ่ง ประทับอยู่ที่ปัจจันตคามนั้น ชาวปัจจันตคามจำพระองค์ได้ก็บำรุงพระองค์

ครั้งนั้น พระอริฏฐชนกราชไม่สามารถจะจับพระองค์ได้ พระโปลชนกนั้นได้ทำปัจจันตชนบทให้อยู่ในอำนาจโดยลำดับเป็นผู้มีบริวารมาก ทรงคิดว่า เมื่อก่อนเรามิได้ก่อเวรต่อพระเชษฐาของเรา แต่บัดนี้เราจะก่อเวรละ ทรงให้ประชุมพลนิกาย แวดล้อมไปด้วยมหาชนออกจากปัจจันตคามถึงกรุงมิถิลาโดยลำดับ ให้ตั้งค่ายพักแรมกองทัพอยู่นอกพระนคร ครั้งนั้นเหล่าทหารชาวมิถิลานครทราบว่า พระโปลชนกเสด็จมาก็ขนยุทโธปกรณ์มีพาหนะช้างเป็นต้น มายังสำนักของพระโปลชนกนั้นโดยมาก แม้ชาวนครคนอื่น ๆ ก็พากันมาเข้าด้วย

พระโปลชนกส่งสาส์นไปถวายพระเชษฐาว่า เมื่อก่อนข้าพระองค์มิได้ก่อเวรต่อพระองค์ แต่บัดนี้ ข้าพระองค์จะก่อเวรละ พระองค์จะประทานเศวตฉัตรแก่ข้าพระองค์ หรือจะรบ พระราชาอริฏฐชนกทรงสดับดังนั้น ปรารถนาจะรบ จึงตรัสเรียกพระอัครมเหสีมาตรัสว่า ที่รัก ในการรบชนะหรือแพ้ ไม่อาจจะรู้ได้ ถ้าฉันมีอันตราย เธอพึงรักษาครรภ์ให้ดี ตรัสฉะนี้แล้วเสด็จกรีธาทัพออกจากพระนคร

ครั้งนั้นทหารของพระโปลชนกได้ปลงพระชนม์พระอริฏฐชนกราชให้ถึงชีพตักษัยในที่รบ ชาวพระนครทั้งสิ้นเมื่อรู้ว่าพระราชาสวรรคตแล้ว ก็เกิดโกลาหลกันทั่วไป ฝ่ายพระเทวีทรงทราบว่า พระราชสวามีสวรรคตแล้ว ก็รีบเก็บสิ่งของสำคัญมีทองเป็นต้นใส่ในกระเช้า เอาผ้าเก่า ๆ ปูปิดไว้แล้วใส่ข้าวสารข้างบน ทรงนุ่งภูษาเก่าเศร้าหมองปลอมพระกายของพระองค์ วางกระเช้าบนพระเศียร เสด็จออกจากพระนครแต่กลางวันทีเดียว ไม่มีใครจำพระนางได้ พระนางเสด็จออกทางประตูทิศอุดรไม่รู้จักมรรคา เพราะไม่เคยเสด็จไปในที่ไหน ๆ ไม่อาจกำหนดทิศ จึงประทับที่ศาลาแห่งหนึ่งคอยตรัสถามว่า มีคนเดินทางไปนครกาลจัมปากะไหม เพราะเคยทรงสดับว่า มีนครกาลจัมปากะเท่านั้น

ก็สัตว์ในครรภ์ของพระเทวีนั้นมิใช่สัตว์สามัญ แต่เป็นพระมหาสัตว์ผู้มีพระบารมีเต็มแล้วมาบังเกิด ด้วยเดชานุภาพแห่งพระมหาสัตว์นั้น บันดาลให้ภพของท้าวสักกเทวราชสำแดงอาการร้อน ท้าวสักกเทวราชพิจารณาก็ทรงทราบเหตุนั้น ทรงดำริว่าสัตว์ที่บังเกิดในพระครรภ์ของพระเทวีมีบุญมาก เราควรจะไปในที่นั้น จึงเนรมิตเกวียนมีเครื่องปกปิด จัดตั้งเตียงไว้ในเกวียนนั้น เนรมิตตนเหมือนคนแก่ ขับเกวียนไปหยุดอยู่ที่ประตูศาลาที่พระเทวีประทับอยู่ ทูลถามพระเทวีว่า มีผู้ที่จะไปนครกาลจัมปากะบ้างไหม พระเทวีได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่าข้าแต่พ่อ ข้าพเจ้าจักไป ท้าวสักกะตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น แม่จงขึ้นนั่งบนเกวียนเถิด พระเทวีเสด็จออกมาตรัสว่า ข้าแต่พ่อ ข้าพเจ้ามีครรภ์แก่ ไม่อาจจะขึ้นเกวียนไปได้ จักขอเดินตามพ่อไปเท่านั้น แต่พ่อช่วยรับกระเช้าของข้าพเจ้านี้ขึ้นเกวียนไปด้วย ท้าวสักกะตรัสว่า แม่พูดอะไร คนที่รู้จักขับเกวียนเช่นข้าพเจ้าไม่มี แม่อย่ากลัวเลย ขึ้นนั่งบนเกวียนเถิดแม่ ด้วยอานุภาพแห่งพระโอรสของพระองค์ ในเวลาที่พระเทวีจะเสด็จขึ้นเกวียน แผ่นดินก็ได้นูนขึ้นจดท้ายเกวียน พระเทวีเสด็จขึ้นบรรทมบนพระท่านบนเกวียนและก็ได้หลับไปเพราะได้บรรทมบนพระที่อันเป็นทิพย์

ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงขับเกวียนถึงแม่น้ำแห่งหนึ่ง ไกลราวสามสิบโยชน์ จึงปลุกพระเทวีแล้วตรัสว่า แม่จงลงจากเกวียนนี้อาบน้ำในแม่น้ำ จงนุ่งห่มผ้าคู่หนึ่งที่วางอยู่เหนือศีรษะนั้น จงหยิบของกินที่มีอยู่ภายในเกวียนนั้นมากินเถิด พระเทวีทรงทำตามอย่างนั้นแล้วบรรทมต่อไปอีก ก็ลุถึงนครกาลจัมปากะในเวลาเย็น ทอดพระเนตรเห็นประตูหอรบและกำแพงพระนคร จึงตรัสถามท้าวสักกะว่า ข้าแต่พ่อ เมืองนี้ชื่ออะไร

ท้าวสักกะตรัสตอบว่า นครกาลจัมปากะ แม่

พระเทวีตรัสค้านว่า พูดอะไร พ่อ นครกาลจัมปากะอยู่ห่างจากนครของพวกเราถึงหกสิบโยชน์มิใช่หรือ

ท้าวสักกะตรัสว่า ถูกแล้ว แม่ แต่เรารู้จักหนทางตรง

ครั้งนั้นท้าวสักกเทวราชให้พระเทวีลงจากเกวียน ณ ที่ใกล้ประตู ด้านทิศทักษิณ ตรัสบอกว่า บ้านของเราอยู่ข้างหน้า แต่แม่จงเข้าไปสู่นครนี้

ตรัสดังนี้แล้วเสด็จต่อไปข้างหน้า ครั้นลับตาคนก็ได้หายตัวกลับไปยังที่ประทับของพระองค์ ส่วนพระเทวีก็ประทับนั่งอยู่ที่ศาลาแห่งหนึ่ง

ขณะนั้นมีพราหมณ์คนหนึ่งชาวนครกาลจัมปากะ เป็นทิศาปาโมกข์ มีศิษย์มาณพประมาณห้าร้อยคน แวดล้อมเดินไปเพื่ออาบน้ำ แลดูมาแต่ไกลเห็นพระเทวีนั้นมีพระรูปงามยิ่งสมบูรณ์ด้วยความงามเป็นเลิศ ประทับนั่งอยู่ ณ ศาลานั้น ด้วยอานุภาพแห่งพระมหาสัตว์ผู้บังเกิดในพระครรภ์ของพระเทวี พอเห็นเท่านั้นก็เกิดสิเนหาราวกะว่าเป็นน้องสาวของตน จึงให้เหล่ามาณพพักอยู่ภายนอก เข้าไปในศาลาแต่ผู้เดียว ถามว่า น้องหญิง แม่เป็นชาวบ้านไหน

พระเทวีตรัสตอบว่า ข้าแต่พ่อ ข้าพเจ้าเป็นอัครมเหสีของพระอริฏฐชนกราช กรุงมิถิลา

พราหมณ์ถามว่า แม่มาที่นี้ทำไม

พระเทวีตรัสตอบว่า พระอริฏฐชนกราชถูกพระโปลชนกปลงพระชนม์ เมื่อเป็นเช่นนี้ข้าพเจ้ากลัวภัยจึงหนีมา ด้วยคิดว่า จักรักษาครรภ์ไว้

พราหมณ์ถามว่า ก็ในพระนครนี้ มีใครที่เป็นพระญาติของเธอหรือ

พระเทวีตรัสตอบว่า ไม่มี พ่อ

พราหมณ์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น เธออย่าวุ่นใจไปเลย ข้าพเจ้าอุทิจจพราหมณ์มหาศาล เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ข้าพเจ้าจักตั้งเธอไว้ในที่เป็นน้องสาวปฏิบัติดูแลเธอ เธอจงกล่าวกะข้าพเจ้าว่า ท่านเป็นพี่ชาย แล้วจับที่เท้าทั้งสองของข้าพเจ้าคร่ำครวญเถิด

พระเทวีรับคำแล้ว เปล่งเสียงดังทอดพระองค์ลงจับเท้าทั้งสองของพราหมณ์ ทั้งสองต่างก็คร่ำครวญกันอยู่ ครั้งนั้นเหล่าอันเตวาสิกได้ยินเสียงของพราหมณ์ จึงพากันวิ่งเข้าไปยังศาลาถามว่า ท่านอาจารย์ เกิดอะไรแก่ท่านหรือ

พราหมณ์กล่าวว่า พ่อทั้งหลาย หญิงนี้เป็นน้องสาวของฉัน พลัดพรากจากฉันไปแต่ครั้งโน้น

เหล่าอันเตวาสิกกล่าวว่า ก็บัดนี้ท่านทั้งสองได้พบกันแล้ว ขออย่าได้วิตกเลย

พราหมณ์ให้นำยานที่ปกปิดมาให้พระเทวีประทับนั่งในยานนั้น กล่าวกะเหล่ามาณพว่า เจ้าทั้งหลายจงบอกแก่นางพราหมณีว่า หญิงนี้เป็นน้องสาวของเรา แล้วจงบอกนางพราหมณีเพื่อทำกิจทั้งปวงแก่นาง กล่าวฉะนี้แล้วส่งพระเทวีไปสู่เรือน

ลำดับนั้น นางพราหมณีให้พระนางสรงสนานด้วยน้ำร้อนแล้ว แต่งที่บรรทมให้บรรทม แม้พราหมณ์อาบน้ำแล้วก็กลับมาสู่เรือน สั่งให้เชิญพระนางมาในเวลาบริโภคอาหาร ด้วยคำว่า จงเชิญน้องสาวของเรามา แล้วบริโภคร่วมกับพระนาง ได้ปรนนิบัติพระนางในนิเวศของตน ไม่นานนักพระนางก็ประสูติพระโอรสมีวรรณะดังทอง พระเทวีขนานพระนามพระโอรส เหมือนพระอัยกาว่า มหาชนกกุมาร

พระกุมารนั้นทรงเจริญวัยก็เล่นอยู่กับพวกเด็ก เด็กพวกใดรบกวนทำให้พระกุมารขัดเคือง พระกุมารก็จับเด็กพวกนั้นให้มั่นแล้วตี ด้วยพระองค์มีพระกำลังมาก และด้วยความเป็นผู้กระด้างเพราะมานะ เพราะพระองค์เกิดในตระกูลกษัตริย์ที่ไม่เจือปน พวกเด็กเหล่านั้นร้องไห้เสียงดัง เมื่อถูกถามว่า ใครตี ก็บอกว่า บุตรหญิงหม้ายตี

พระกุมารทรงคิดว่า พวกเด็กว่าเราเป็นบุตรหญิงหม้ายอยู่เนือง ๆ ช่างเถอะ เราจักถามมารดาของเราวันหนึ่ง พระกุมารจึงทูลถามพระมารดาว่า ข้าแต่พระมารดา ใครเป็นบิดาของฉัน พระนางตรัสลวงพระกุมารว่า พราหมณ์เป็นบิดาของลูก วันรุ่งขึ้นพระกุมารตีเด็กทั้งหลาย เมื่อเด็กทั้งหลายกล่าวว่า บุตรหญิงหม้ายตี จึงตรัสว่าพราหมณ์เป็นบิดาของเรามิใช่หรือ ครั้นพวกเด็กถามว่า พราหมณ์เป็นอะไรกับเธอ จึงทรงคิดว่า เด็กเหล่านี้กล่าวว่า พราหมณ์เป็นอะไรกับเธอ มารดาของเราไม่บอกเหตุการณ์นี้ตามจริง ท่านไม่บอกแก่เราตามใจของท่าน ยกไว้เถิด เราจักให้ท่านบอกความจริงให้ได้

เมื่อพระกุมารดื่มน้ำนมพระมารดาจึงกัดพระถันพระมารดาไว้ ตรัสว่า ข้าแต่แม่ แม่จงบอกบิดาแก่ฉัน ถ้าแม่ไม่บอก ฉันจักกัดพระถันของแม่ให้ขาด พระนางไม่อาจตรัสลวงพระโอรส จึงตรัสบอกว่า พ่อเป็นโอรสของพระเจ้าอริฎฐมหาชนกในกรุงมิถิลา พระบิดาของพ่อถูกพระโปลชนกปลงพระชนม์ แม่ตั้งใจรักษาตัวพ่อ จึงมาสู่นครนี้ พราหมณ์นี้ตั้งแม่ไว้ในที่เป็นน้องสาว ปฏิบัติดูแลแม่

ตั้งแต่นั้นมา แม้ใครว่าเป็นบุตรหญิงหม้าย พระกุมารก็ไม่กริ้ว พระกุมารทรงเรียนไตรเพทและศิลปศาสตร์ทั้งปวงในภายในพระชนม์ ๑๖ ปี เมื่อมีพระชนม์ได้ ๑๖ ปี เป็นผู้ทรงพระรูปโฉมอันอุดม พระองค์ทรงคิดว่า เราจักเอาราชสมบัติซึ่งเป็นของพระบิดา จึงทูลถามพระมารดาว่า ข้าแต่พระมารดา ทรัพย์อะไร ๆ ที่พระมารดาได้มามีบ้างหรือไม่ ฉันจักค้าขายให้ทรัพย์เกิดขึ้นแล้วจักเอาราชสมบัติซึ่งเป็นของพระบิดา

พระนางตรัสตอบว่า ลูกรัก แม่ไม่ได้มามือเปล่า สิ่งอันเป็นแก่นสารของเรามีอยู่สามอย่าง คือ แก้วมณี แก้วมุกดา แก้ววิเชียร ในสามอย่างนั้นแต่ละอย่างพอจะเป็นกำลังเอาราชสมบัติได้ พ่อจงรับแก้วสามอย่างนั้น คิดอ่านเอาราชสมบัติเถิด อย่าทำการค้าขายเลย

พระกุมารทูลว่า ข้าแต่พระมารดาขอพระมารดาจงประทานทรัพย์นั้นกึ่งหนึ่งแก่หม่อมฉัน หม่อมฉันจะเอาไปเมืองสุวรรณภูมิ นำทรัพย์เป็นอันมากมา แล้วจักเอาราชสมบัติซึ่งเป็นของพระบิดากลับคืนมา ครั้นทูลดังนี้แล้วก็ให้พระมารดาประทานทรัพย์กึ่งหนึ่งนำมาจำหน่ายออกเป็นสินค้าแล้วให้ขนขึ้นเรือ พร้อมกับพวกพาณิชที่จะเดินทางไปสุวรรณภูมิ แล้วกลับมาถวายบังคมลาพระมารดา ทูลว่า ข้าแต่พระมารดา หม่อมฉันจักไปเมืองสุวรรณภูมิ

พระนางตรัสห้ามว่า ลูกรัก ขึ้นชื่อว่ามหาสมุทร ประโยชน์มีน้อย อันตรายมีมาก อย่าไปเลย ทรัพย์ของพ่อมีมากพอที่จะเอาราชสมบัติแล้ว

พระกุมารยังคงทูลยืนยันที่จะไปให้ได้ จากนั้นจึงทูลลาพระมารดาถวายบังคมกระทำประทักษิณแล้วออกไปขึ้นเรือ ในวันนั้นเองก็ได้เกิดพระโรคขึ้นในพระสรีระของพระเจ้าโปลชนกราช ทรงบรรทมแล้วเสด็จลุกขึ้นอีกไม่ได้

พวกพาณิชประมาณเจ็ดร้อยคนขึ้นสู่เรือ เมื่อเรือแล่นไปได้เจ็ดวัน ได้ระยะทางเจ็ดร้อยโยชน์ เรือก็แล่นไปผจญกับคลื่นที่ร้ายกาจ ไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ แผ่นกระดานก็แตกด้วยกำลังคลื่น น้ำเข้ามาแต่ที่นั้น ๆ เรือก็จมลงในกลางมหาสมุทร มหาชนกลัวมรณภัย ร้องไห้คร่ำครวญกราบไหว้เทวดาทั้งหลาย แต่พระมหาสัตว์ไม่ทรงกันแสง ไม่ทรงคร่ำครวญ ไม่ไหว้เทวดาทั้งหลาย พระองค์ทรงทราบว่าเรือจะจม จึงคลุกน้ำตาลกรวดกับเนยเสวยจนเต็มท้อง แล้วชุบผ้าเนื้อเกลี้ยงสองผืนด้วยน้ำมันจนชุ่ม ทรงนุ่งให้มั่น ประทับยืน เกาะเสากระโดงขึ้นยอดเสากระโดงเวลาเรือจม มหาชนเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า น้ำโดยรอบมีสีเหมือนโลหิต

พระมหาสัตว์ประทับยืนที่ยอดเสากระโดง ทรงมองกำหนดทิศว่าเมืองมิถิลาอยู่ทิศใด ก็กระโดดจากยอดเสากระโดงพุ่งไปทางทิศนั้น ทรงกระโดดล่วงพ้นฝูงปลาและเต่า ไปตกในที่ห่างออกไป ๒๕ วาเพราะพระองค์มีพระกำลังมาก ในวันนั้นเองพระเจ้าโปลชนกราชก็ได้เสด็จสวรรคตเหมือนกัน

นับแต่นั้น พระมหาสัตว์ลอยคออยู่ในคลื่นซึ่งมีสีดังแก้วมณี เหมือนท่อนต้นกล้วยทอง ข้ามมหาสมุทรด้วยกำลังพระพาหา พระมหาสัตว์ทรงว่ายข้ามมหาสมุทรอยู่เจ็ดวัน เหมือนว่ายข้ามวันเดียว พระองค์ทรงสังเกตเวลานั้นว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถ จึงบ้วนพระโอฐด้วยน้ำเค็มทรงสมาทานอุโบสถศีล

ในกาลนั้น ท้าวโลกบาลทั้งสี่มอบให้เทพธิดาชื่อมณีเมขลา เป็นผู้ดูแลรักษาสัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยคุณ มีบำรุงมารดาเป็นต้น เป็นผู้ไม่สมควรจะตายในมหาสมุทร นางมณีเมขลามิได้ออกตรวจตรามหาสมุทรเป็นเวลาเจ็ดวัน เล่ากันว่า นางเสวยทิพยสมบัติเพลินก็เผลอสติมิได้ตรวจตรา บางอาจารย์กล่าวว่า นางเทพธิดาไปเทพสมาคมเสีย นางคิดได้ว่าวันนี้เป็นวันที่เจ็ดที่เรามิได้ตรวจตรามหาสมุทร มีเหตุอะไรบ้างหนอ เมื่อนางตรวจดูก็เห็นพระมหาสัตว์ จึงคิดว่า ถ้ามหาชนกกุมารจักตายในมหาสมุทรเราจักไม่ได้เข้าเทวสมาคม คิดฉะนี้แล้ว ตกแต่งสรีระ สถิตอยู่ในอากาศไม่ไกลพระมหาสัตว์ เมื่อจะทดลองพระมหาสัตว์ จึงกล่าวว่า

ใครนี่ แม้เมื่อมองไม่เห็นฝั่ง ก็ยังกระทำความเพียรว่ายอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทร ท่านเห็นประโยชน์อะไร จึงพยายามว่ายอยู่อย่างนี้นัก

ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า เราว่ายข้ามมหาสมุทรมาได้เจ็ดวันเข้าวันนี้ ไม่เคยเห็นเพื่อนของเราเลย นี่ใครหนอมาพูดกะเรา เมื่อแลไปในอากาศก็ทอดพระเนตรเห็นนางมณีเมขลา จึงตรัสตอบว่า

ดูกรเทวดา เราพิจารณาเห็นวัตรของโลกและอานิสงส์แห่งความพยายาม ชื่อว่าความเพียรของบุรุษย่อมไม่เสียหาย ย่อมให้ตั้งอยู่ในความสุข ฉะนั้น เพราะฉะนั้น ถึงจะไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่ายอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทร

นางมณีเมขลาปรารถนาจะฟังธรรมกถาของพระมหาสัตว์ จึงกล่าวอีกว่า

ฝั่งมหาสมุทรอันลึกประมาณไม่ได้ ย่อมไม่ปรากฏ ความพยายามอย่างลูกผู้ชายของท่านย่อมเปล่าประโยชน์ ท่านยังไม่ทันจะถึงฝั่งก็จักต้องตายเป็นแน่

ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ตรัสกะนางมณีเมขลาว่า ท่านพูดอะไรอย่างนั้น เราทำความพยายาม แม้ตายก็จักพ้นครหา ตรัสฉะนี้แล้ว จึงกล่าวต่อไปว่า

บุคคลผู้กระทำความเพียรอยู่ แม้จะตาย ก็ชื่อว่าไม่เป็นหนี้ คือ ไม่ถูกติเตียนในระหว่างหมู่ญาติ เทวดาและพรหมทั้งหลาย อนึ่ง บุคคลเมื่อกระทำกิจของบุรุษอยู่ ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง

ลำดับนั้น เทวดากล่าวกะพระมหาสัตว์ว่า

การงานอันใดยังไม่ถึงที่สุดด้วยความพยายาม การงานอันนั้นก็ไร้ผล มีความลำบากเกิดขึ้น การทำความพยายามในฐานะอันไม่สมควรใด จนมัจจุคือความตายนั่นแลปรากฏขึ้น ความพยายามในฐานะอันไม่สมควรนั้นจะมีประโยชน์อะไร

เมื่อนางมณีเมขลากล่าวอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์เมื่อจะทำนางมณีเมขลาให้จำนนต่อถ้อยคำ จึงได้ตรัสต่อไปว่า

ดูกรเทวดา ผู้ใดรู้แจ้งว่า การงานนี้ยังไม่ถึงที่สุดด้วยความพยายาม แล้วไม่ป้องกันอันตราย ชื่อว่าไม่พึงรักษาชีวิตของตน ถ้าผู้นั้นพึงละความเพียรในฐานะเช่นนั้นเสีย ก็จะพึงรู้ผลแห่งความเกียจคร้านนั้น

ดูกรเทวดา คนบางพวกในโลกนี้ เห็นอยู่ซึ่งผลแห่งความประสงค์ จึงประกอบการงานทั้งหลาย การงานเหล่านั้นจะสำเร็จก็ตาม ไม่สำเร็จก็ตาม

ดูกรเทวดา ท่านย่อมเห็นผลแห่งการงานอันประจักษ์แก่ตนแล้วมิใช่หรือ คนอื่นๆ พากันจมลงในมหาสมุทร เราคนเดียวเท่านั้นพยายามว่ายข้ามอยู่และได้เห็นท่านมาสถิตอยู่ใกล้เรา เรานั้นจักพยายามตามสติกำลังจักทำความเพียรที่บุรุษพึงกระทำ ไปให้ถึงฝั่งแห่งมหาสมุทร

เทวดาได้สดับพระวาจาอันมั่นคงของพระมหาสัตว์นั้น เมื่อจะสรรเสริญพระมหาสัตว์ จึงกล่าวว่า

ท่านใดถึงพร้อมด้วยความพยายามโดยธรรม ไม่จมลงในห้วงมหรรณพทั้งลึก ทั้งกว้างเห็นปานนี้ ด้วยการกระทำความเพียรของบุรุษ ท่านนั้นจงไปในสถานที่ซึ่งท่านปรารถนาเถิด

ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นางมณีเมขลาได้ถามว่า ข้าแต่ท่านบัณฑิตผู้มีความบากบั่นมาก ข้าพเจ้าจักนำท่านไปที่ไหน เมื่อพระมหาสัตว์ตรัสว่า มิถิลานคร นางจึงอุ้มพระมหาสัตว์ขึ้น ดุจคนยกกำดอกไม้ ใช้แขนทั้งสองประคองให้นอนแนบทรวง พาเหาะไปในอากาศเหมือนคนอุ้มลูกรักฉะนั้น

พระมหาสัตว์มีสรีระเศร้าหมองด้วยน้ำเค็มตลอดเจ็ดวัน ได้สัมผัสทิพยผัสสะก็บรรทมหลับ

ลำดับนั้น นางมณีเมขลานำพระมหาสัตว์ถึงมิถิลานคร ให้บรรทมโดยเบื้องขวาบนแผ่นศิลาอันเป็นมงคล ในสวนมะม่วง มอบให้หมู่เทพเจ้าในสวนคอยอารักขาพระมหาสัตว์ แล้วไปสู่ที่อยู่ของตน

ในกาลนั้น พระเจ้าโปลชนกราชไม่มีพระโอรส มีแต่พระธิดาองค์หนึ่งพระนามว่าสีวลีเทวี เป็นหญิงฉลาดเฉียบแหลม อำมาตย์ทั้งหลายได้ทูลถามพระเจ้าโปลชนกราช เมื่อบรรทมอยู่บนพระแท่นมรณมัญจอาสน์ว่า ข้าแต่พระมหาราชเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว เหล่าข้าพระบาทจักถวายราชสมบัติแก่ใคร

พระราชาตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงมอบราชสมบัติให้แก่ท่านที่สามารถยังสีวลีเทวีธิดาของเราให้ยินดี หรือผู้ใดรู้หัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยม หรือผู้ใดอาจยกสหัสสถามธนูขึ้นได้ หรือผู้ใดอาจนำขุมทรัพย์ใหญ่สิบหกแห่งออกมาได้ ท่านทั้งหลายจงมอบราชสมบัติให้แก่ผู้นั้น

อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ขอเดชะขอพระองค์โปรดตรัสอุทานปัญหาแห่งขุมทรัพย์เหล่านั้นแก่พวกข้าพระองค์

พระราชาจึงตรัสอุทานปัญหาของสิ่งอื่น ๆ พร้อมกับขุมทรัพย์ทั้งหลายไว้ว่า

ขุมทรัพย์ใหญ่ ๑๖ ขุมนี้ คือ ขุมทรัพย์ที่อาทิตย์ขึ้น ๑ ขุมทรัพย์ที่อาทิตย์ตก ๑ ขุมทรัพย์ภายใน ๑ ขุมทรัพย์ภายนอก ๑ ขุมทรัพย์ไม่ใช่ภายในไม่ใช่ภายนอก ๑ ขุมทรัพย์ขาขึ้น ๑ ขุมทรัพย์ขาลง ๑ ขุมทรัพย์ที่ไม้รังทั้งสี่ ๑ ขุมทรัพย์ในที่หนึ่งโยชน์โดยรอบ ๑ ขุมทรัพย์ที่ปลายงาทั้งสอง ๑ ขุมทรัพย์ที่ปลายทาง ๑ ขุมทรัพย์ที่น้ำ ๑ ขุมทรัพย์ที่ยอดต้นไม้ ๑ ธนูหนักพันแรงคน ๑ บัลลังก์สี่เหลี่ยมหัวนอนอยู่เหลี่ยมไหน ๑ คนผู้ยังเจ้าหญิงสีวลีให้ยินดี ๑

เมื่อพระเจ้าโปลชนกราชสวรรคต ถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จแล้ว อำมาตย์ทั้งหลายได้ประชุมปรึกษากันในวันที่เจ็ด ถึงเรื่องที่พระราชาตรัสไว้ว่าให้มอบราชสมบัติแก่ท่านที่สามารถให้พระธิดาของพระองค์ยินดี ก็ใครเล่าจักสามารถให้พระราชธิดานั้นยินดี

อำมาตย์เหล่านั้นเห็นกันว่า เสนาบดีเป็นผู้สนิทแห่งพระราชาจักสามารถทำพระราชธิดาให้ยินดีได้ จึงส่งข่าวให้เสนาบดีนั้นทราบ เสนาบดีนั้นได้ฟังข่าวนั้นแล้วจึงมายังพระราชวังแล้วให้ทูลความที่ตนมาแด่พระราชธิดา

พระราชธิดาทรงทราบว่าเสนาบดีนั้นมา ก็หวังจะทรงทดลองเสนาบดีว่าจะมีปัญญาสมควรแก่เศวตฉัตรหรือไม่ จึงรับสั่งว่าจงมาโดยเร็ว เสนาบดีได้ฟังข่าวนั้นแล้ว ประสงค์จะให้พระราชธิดาโปรดปรานจึงไปโดยเร็วตั้งแต่เชิงบันไดไปยืนอยู่ที่ใกล้พระราชธิดา

ลำดับนั้นพระราชธิดาเมื่อจะทรงทดลองเสนาบดีนั้น จึงตรัสสั่งว่า จงวิ่งไปโดยเร็วในพระตำหนักเสนาบดีคิดว่าจักยังพระราชธิดาให้ยินดี จึงวิ่งไปโดยเร็ว พระราชธิดารับสั่งกะเสนาบดีว่า จงมาอีก เสนาบดีก็มาโดยเร็วอีก พระราชธิดาทรงทราบว่าเสนาบดีนั้นหาปัญญามิได้ จึงตรัสว่า จงมานวดเท้าของเรา เสนาบดีก็นั่งลงนวดพระบาทของพระราชธิดาเพื่อให้ทรงโปรดปราน

ลำดับนั้น พระราชธิดาก็ถีบเสนาบดีนั้นที่อกให้ล้มหงาย แล้วประทานสัญญาแก่นางข้าหลวงทั้งหลายด้วยพระดำรัสว่า พวกเจ้าจงตีบุรุษไร้ปัญญาอันธพาลคนนี้ ลากคอออกไปเสีย นางข้าหลวงทั้งหลายก็ทำตามรับสั่ง

เสนาบดีนั้นเมื่อมีใครถามว่าเป็นอย่างไร ก็ตอบว่า พวกท่านอย่าถามเลย พระราชธิดานี้ไม่ใช่หญิงมนุษย์ จักเป็นยักขินี ต่อจากนั้นอำมาตย์ผู้รักษาคลังก็ไปเพื่อหวังจะให้พระราชธิดาทรงยินดีบ้าง พระราชธิดาก็ทรงกระทำให้ได้รับความอับอายขายหน้าเช่นเดียวกับเสนาบดี นอกจากนั้นก็ยังได้ทำให้ชนทั้งปวง คือ เศรษฐี เจ้าพนักงานเชิญเครื่องสูง เจ้าพนักงานเชิญพระแสง ให้ได้รับความอับอายขายหน้าเหมือนกัน

ครั้งนั้น มหาชนปรึกษากันแล้วกล่าวว่า ไม่มีผู้สามารถให้พระราชธิดาโปรดปรานได้ ท่านทั้งหลายจงมอบราชสมบัติแก่ผู้สามารถยกธนูที่มีน้ำหนักพันแรงคนยก ก็ไม่มีใครที่จะสามารถจะยกธนูนั้นขึ้นได้

แต่นั้นมหาชนจึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงมอบราชสมบัติแก่ผู้รู้จักหัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยม ก็ไม่มีใครรู้จักอีก

แต่นั้น มหาชนจึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงมอบราชสมบัติแก่ผู้สามารถนำขุมทรัพย์สิบหกแห่งออกมาได้ ก็ไม่มีใครสามารถอีก

แต่นั้นเสนาอำมาตย์ทั้งหลายปรึกษากันว่า เราทั้งหลายไม่อาจรักษาแว่นแคว้นที่หาพระราชามิได้ไว้ จะพึงทำอย่างไรกันหนอ

ลำดับนั้น ปุโรหิตจึงกล่าวกะเสนามาตย์เหล่านั้นว่า พวกท่านอย่าวิตกเลย ควรจะปล่อยผุสสรถไป เพราะพระราชาที่เชิญเสด็จมาได้ด้วยผุสสรถเป็นผู้สามารถจะครองราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้น

เหล่าเสนามาตย์ต่างเห็นพร้อมกัน จึงให้ตกแต่งพระนคร แล้วให้เทียมม้าสี่ตัวมีสีดุจดอกกุมุทในราชรถอันเป็นมงคล ลาดเครื่องลาดอันวิจิตรเบื้องบน ให้ประดิษฐานเบญจราชกกุธภัณฑ์ แวดล้อมด้วยจตุรงคเสนา

ปกติแล้ว ชนทั้งหลายจะประโคมเครื่องดนตรีที่ข้างหน้าราชรถที่พระราชาเป็นเจ้าของ และจะประโคมเบื้องหลังราชรถที่ไม่มีเจ้าของ เพราะฉะนั้น ปุโรหิตจึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงประโคมดนตรีทั้งปวงเบื้องหลังราชรถ แล้วรดสายหนังเชือกแอก ประตักด้วยพระเต้าทองคำ แล้วสั่งราชรถว่า ผู้ใดมีบุญที่จะได้ครองราชสมบัติ ท่านจงไปสู่สำนักของผู้นั้น แล้วปล่อยราชรถนั้นไป

ลำดับนั้น ราชรถก็ทำประทักษิณพระราชนิเวศแล้วขึ้นสู่ถนนใหญ่แล่นไปโดยเร็ว ชนทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นต้น นึกหวังว่า ขอผุสสรถจงมาสู่สำนักเรา รถนั้นแล่นล่วงเลยเคหสถานของชนทั้งปวงไป ทำประทักษิณพระนครแล้ว ออกทางประตูด้านตะวันออกบ่ายหน้าตรงไปอุทยาน

ครั้งนั้น ชนทั้งหลายเห็นราชรถแล่นไปโดยเร็ว จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงยังราชรถนั้นให้กลับ ปุโรหิตห้ามว่า อย่าให้กลับเลยถึงแล่นไปสิ้นร้อยโยชน์ก็อย่าให้กลับ รถเข้าไปสู่อุทยาน ทำประทักษิณแผ่นศิลามงคลที่พระมหาสัตว์บรรทมอยู่ แล้วหยุดดังจะเตรียมรับให้เสด็จขึ้น

ปุโรหิตเห็นพระมหาสัตว์บรรทม จึงเรียกเหล่าอำมาตย์มากล่าวว่า ท่านผู้หนึ่งนอนบนแผ่นศิลามงคลอยู่ แต่ว่าพวกเรายังไม่รู้ว่า ท่านผู้นั้นจะมีปัญญาสมควรแก่เศวตฉัตรหรือไม่มี ถ้าว่าท่านมีปัญญา จักไม่ลุกขึ้น จักไม่แลดู ถ้าเป็นคนกาลกรรณีจักกลัว จักตกใจลุกขึ้นสะทกสะท้านแลดูแล้วหนีไป ท่านทั้งหลายจงประโคมดนตรีขึ้นทั้งหมดโดยเร็ว

ชนทั้งปวงก็ประโคมดนตรีเป็นร้อย ๆ ขึ้นขณะนั้น เสียงของดนตรีเหล่านั้นได้เป็นเหมือนกึกก้องไปทั่วท้องสาคร พระมหาสัตว์ตื่นบรรทมด้วยเสียงนั้น เปิดพระเศียรทอดพระเนตรเห็นมหาชนแล้ว ก็ทรงทราบว่าเศวตฉัตรมาถึงเรา ดังนี้แล้ว ก็กลับคลุมพระเศียรเสียอีก พลิกพระองค์บรรทมข้างซ้าย ปุโรหิตเปิดพระบาทแห่งพระมหาสัตว์ตรวจดูพระลักษณะแล้วกล่าวว่าอย่าว่าแต่ทวีปหนึ่งนี้เท่านั้นเลย ท่านผู้นี้สามารถครองราชสมบัติในมหาทวีปทั้งสี่ได้ กล่าวฉะนี้แล้วให้ประโคมดนตรีอีก

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงเปิดพระพักตร์อีก พลิกพระองค์บรรทมข้างขวา ทอดพระเนตรมหาชน ปุโรหิตให้บริษัทถอยออกไปแล้ว ประคองอัญชลีก้มหน้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอได้โปรดเสด็จลุกขึ้นเถิด ราชสมบัติมาถึงพระองค์แล้ว

ลำดับนั้นพระมหาสัตว์ตรัสถามปุโรหิตว่า พระราชาของพวกท่านเสด็จไปไหน

ครั้นปุโรหิตกราบทูลว่า เสด็จสวรรคต

ตรัสถามว่า พระราชโอรสหรือพระราชภาดาของพระราชานั้นไม่มีหรือ

ปุโรหิตกราบทูลว่า ไม่มีพระเจ้าข้า มีแต่พระราชธิดาองค์หนึ่ง

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงสดับคำของปุโรหิตนั้นแล้วจึงรับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้นก็ดีแล้ว เราจักครองราชสมบัติ ตรัสฉะนี้แล้ว เสด็จลุกขึ้นประทับนั่งโดยบัลลังก์ ณ แผ่นมงคลศิลา ต่อนั้น ชนทั้งหลายมีอำมาตย์และปุโรหิตเป็นต้น ก็ถวายอภิเษกพระมหาสัตว์ ณ สถานที่นั้นทีเดียว พระมหาสัตว์นั้นได้ทรงพระนามว่า มหาชนกราช พระองค์เสด็จขึ้นสู่ราชรถอันประเสริฐเข้าพระนครด้วยสิริราชสมบัติอันสิริโสภาคใหญ่ ขึ้นสู่พระราชนิเวศทรงพิจารณาว่า ตำแหน่งเสนาบดีเป็นต้นนั้น ๆ ยกไว้ก่อน แล้วเสด็จขึ้นพระที่นั่งข้างใน

ฝ่ายพระราชธิดา ตรัสสั่งราชบุรุษคนหนึ่งเพื่อจะทรงทดลองพระมหาสัตว์นั้นโดยสัญญาที่มีมาก่อนว่า เจ้าจงเข้าไปเฝ้าพระราชา กราบทูลว่าพระนางสีวลีเทวีรับสั่งให้หา จงรีบเสด็จไปเฝ้า อำมาตย์นั้นก็ไปกราบทูลพระราชาดังนั้น

พระราชาแม้ได้ทรงฟังคำอำมาตย์นั้น ก็แสร้งเป็นเหมือนไม่ได้ยิน ตรัสชมปราสาทเสียว่า โอ ปราสาทงาม ดังนี้ เพราะความที่พระองค์เป็นบัณฑิต ราชบุรุษนั้นเมื่อไม่อาจให้พระราชาทรงสดับคำนั้น จึงกลับมาทูลพระราชธิดาว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระราชาไม่ทรงฟังคำของพระแม่เจ้า มัวแต่ทรงชมปราสาท ไม่สนพระทัยพระวาจาของพระแม่เจ้า เหมือนคนไม่สนใจต้นหญ้าฉะนั้น

พระราชธิดาทรงคิดว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีอัธยาศัยใหญ่ ส่งราชบุรุษให้เชิญเสด็จมาอีกถึงสองครั้งสามครั้งทีเดียว แม้พระราชาก็เสด็จไปโดยปกติ ตามความพอพระราชหฤทัยของพระองค์ ขึ้นสู่ปราสาทเหมือนพระยาราชสีห์เดินออกจากถ้ำฉะนั้น

เมื่อเสด็จใกล้เข้ามา พระสีวลีเทวีราชธิดาไม่อาจดำรงพระองค์อยู่ได้ด้วยพระเดชานุภาพแห่งพระมหาสัตว์ จึงเสด็จมาถวายให้เกี่ยวพระกร พระมหาสัตว์ก็ทรงรับเกี่ยวพระกรพระราชธิดาขึ้นยังพระที่นั่งประทับ ณ ราชบัลลังก์ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร ตรัสเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมารับสั่งถามว่า ดูก่อนอำมาตย์ทั้งหลาย เมื่อพระราชาของพวกท่านจะเสด็จสวรรคต ได้ตรัสสั่งอะไรไว้บ้าง เมื่ออำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ได้ตรัสสั่งไว้บ้าง จึงโปรดให้อำมาตย์เล่าถวาย อำมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลว่า พระราชาของข้าพระองค์ทั้งหลายได้ตรัสสั่งไว้ดังนี้

๑. ให้มอบราชสมบัติแก่ท่านผู้ที่ทำให้พระราชธิดาพระนามว่าสีวลีเทวีโปรดปรานได้

พระราชาตรัสว่า พระนางสีวลีราชธิดาเสด็จมาถวายให้เกี่ยวพระกรของเธอแล้ว ข้อนี้เป็นอันว่า เราได้ให้พระราชธิดาโปรดปรานแล้ว ท่านจงกล่าวข้ออื่นต่อไป

๒. ให้มอบราชสมบัติแก่ท่านผู้สามารถทราบหัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยมว่าอยู่ด้านไหน

พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า ข้อนี้รู้ยาก แต่ก็อาจรู้ได้โดยอุบาย จึงทรงถอดเข็มทองคำบนพระเศียร ประทานที่พระหัตถ์พระนางสีวลี มีรับสั่งว่าเธอจงวางเข็มทองคำนี้ไว้ พระนางสีวลีราชธิดาทรงรับเข็มทองคำไปวางไว้เบื้องหัวนอนแห่งบัลลังก์นั้น บางอาจารย์กล่าวว่า พระมหาสัตว์ประทานพระขรรค์ให้พระราชธิดาไปวาง พระมหาสัตว์ทรงทราบว่า ข้างนี้เป็นหัวนอนด้วยความหมายนั้น ทรงทำเป็นยังไม่ได้ยินถ้อยคำนั้น จึงตรัสถามว่า ท่านว่ากระไร ครั้นหมู่อำมาตย์กราบทูลซ้ำให้ทรงทราบแล้ว จึงรับสั่งว่า การรู้จักหัวนอนบัลลังก์สี่เหลี่ยมไม่อัศจรรย์ ด้านนี้เป็นหัวนอน ท่านทั้งหลายจงกล่าวข้ออื่นต่อไป

๓. ให้มอบราชสมบัติแก่ท่านผู้ยกธนูอันมีน้ำหนักพันแรงคนยกขึ้นได้

พระมหาสัตว์ตรัสสั่งให้นำธนูนั้นมา แล้วประทับ ณ ราชบัลลังก์นั้นเอง ทรงยกสหัสสถามธนูนั้นขึ้น ดุจกงดีดฝ้ายของหญิงทั้งหลายฉะนั้น แล้วโปรดให้เล่าข้ออื่นต่อไป

๔. ให้มอบราชสมบัติแก่ท่านผู้นำขุมทรัพย์สิบหกแห่งออกให้ปรากฏ

พระมหาสัตว์ตรัสถามว่า ปัญหาอะไร ๆ เกี่ยวกับขุมทรัพย์นั้น มีอยู่หรือไม่ เมื่อพวกอำมาตย์กราบทูลปัญหาเกี่ยวกับขุมทรัพย์ว่า มีขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นต้น พอพระองค์ได้ทรงสดับปัญหานั้นแล้ว เนื้อความก็ปรากฏเหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญลอยเด่นอยู่ ณ ท้องฟ้าฉะนั้น

ครั้นแล้วพระมหาสัตว์จึงตรัสว่า วันนี้หมดเวลาแล้ว พรุ่งนี้เราจักชี้ขุมทรัพย์ในที่ทั้งหลายนั้น ๆ

รุ่งขึ้นพระมหาสัตว์ให้ประชุมเหล่าอำมาตย์แล้วตรัสถามว่า พระราชาของพวกท่านนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าให้มาฉันบ้างหรือไม่

กราบทูลว่า เคยนิมนต์ให้มาฉันบ้าง ขอเดชะ

พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า ดวงอาทิตย์มิใช่ดวงอาทิตย์ที่มองเห็นนี้ ดวงอาทิตย์หมายเอาพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะมีคุณเช่นดวงอาทิตย์ ขุมทรัพย์คงมีในสถานที่ต้อนรับพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น

พระมหาสัตว์จึงตรัสถามว่า เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมา พระราชาเสด็จไปต้อนรับตรงไหน

เมื่ออำมาตย์กราบทูลว่า ตรงนั้น ขอเดชะ

ก็ตรัสสั่งให้ขุดที่นั้น นำขุมทรัพย์มาได้

จึงตรัสถามต่อไปว่า เมื่อเสด็จไปส่งพระปัจเจกพุทธเจ้าเวลากลับ เสด็จประทับยืนตรงไหน

เมื่อทรงทราบว่าที่ใดแล้ว ก็โปรดให้ขุดที่นั้นนำขุมทรัพย์ออกมาได้

มหาชนก็โห่ร้องเซ็งแซ่ถวายสาธุการสรรเสริญพระปัญญา รู้สึกปีติโสมนัสว่า ชนทั้งหลายเที่ยวขุด ณ ทิศที่ดวงอาทิตย์ขึ้น เพราะปัญหากล่าวว่าที่ดวงอาทิตย์ขึ้น และเที่ยวขุดในทิศที่ดวงอาทิตย์ตก เพราะปัญหากล่าวว่าที่ดวงอาทิตย์ตก แต่ขุมทรัพย์มีอยู่ในที่นี้เอง โอ อัศจรรย์หนอ แปลกหนอ

พระมหาสัตว์ตรัสให้ขุดนำขุมทรัพย์มาแต่ภายในธรณี แห่งพระทวารใหญ่ของพระราชฐานได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ภายใน

ให้ขุดนำขุมทรัพย์มาแต่ภายนอกธรณีแห่งพระทวารใหญ่ของพระราชฐานได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ภายนอก

ให้ขุดนำขุมทรัพย์มาแต่ข้างล่างพระธรณี แห่งพระทวารใหญ่ของพระราชฐานได้ เพราะปัญหาว่า ขุมทรัพย์ไม่ใช่ภายในไม่ใช่ภายนอก

ให้ขุดนำขุมทรัพย์มาแต่ที่เกยทอง ในเวลาเสด็จขึ้นประทับมงคลหัตถีได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ขาขึ้น

ให้ขุดนำขุมทรัพย์มาแต่ที่เสด็จลงจากคอช้างได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ขาลง

ให้ขุดนำหม้อทรัพย์ทั้งสี่หม้อมาแต่ภายใต้ต้นรังทั้งสี่แห่ง อันเป็นเท้าพระแท่นบรรทม อันเป็นสิริซึ่งตั้งขึ้นมาแต่พื้นดินได้ เพราะปัญหาว่า ขุมทรัพย์ทั้งสี่

ให้ขุดนำหม้อทรัพย์ทั้งหลายมาแต่ที่ประมาณชั่วแอกโดยรอบพระที่สิริไสยาสน์ โดยวิธีนับชั่วแอกรถประมาณโยชน์หนึ่งได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ในที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ

ให้ขุดหม้อทรัพย์ทั้งสองในสถานที่มงคลหัตถี แต่ที่เฉพาะหน้าแห่งงาทั้งสองแห่งช้างนั้นมาได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ใหญ่ที่ปลายงาทั้งสอง

ให้ขุดขุมทรัพย์ในสถานที่มงคลหัตถีแห่งที่เฉพาะหน้าแห่งปลายหางของช้างนั้นมาได้ เพราะปัญหาว่า ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง

ให้วิดน้ำในสระมงคลโบกขรณีแสดงขุมทรัพย์ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ที่น้ำ

ให้ขุดหม้อขุมทรัพย์มาแต่ภายในเงาไม้รัง มีปริมณฑลเวลาเที่ยงวันตรงที่โคนไม้รังใหญ่ในพระราชอุทยานได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ใหญ่ที่ปลายไม้

พระราชาให้นำขุมทรัพย์ใหญ่ทั้งสิบหกมาได้แล้ว ตรัสถามว่าปัญหาอื่นอะไรยังมีอีกหรือไม้ อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่มีแล้ว พระเจ้าข้า

มหาชนต่างร่าเริงแล้ว ยินดีแล้วว่า โอ อัศจรรย์ พระราชาองค์นี้เป็นบัณฑิตจริง ๆ

ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่า เราจักบริจาคทรัพย์นี้ในทานมุข จึงโปรดให้สร้างศาลาโรงทานหกหลัง คือท่ามกลางพระนครหนึ่ง ที่ประตูพระนครทั้งสี่ และที่ประตูพระราชนิเวศหนึ่ง โปรดให้เริ่มตั้งทานวัตร

พระราชาโปรดให้เชิญพระมารดา และพราหมณ์มาแต่กาลจัมปากนคร ทรงทำสักการะสมโภชเป็นการใหญ่ เมื่อพระมหาสัตว์ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติ ในกาลเมื่อพระองค์ยังทรงเป็นดรุณราชกุมาร ชาววิเทหรัฐทั้งสิ้นเอิกเกริกกันเพื่อจะได้เห็นพระองค์ ด้วยคิดว่า พระราชโอรสพระเจ้าอริฏฐชนกราช ทรงพระนามว่า มหาชนกราช ครองราชสมบัติเป็นพระราชาผู้บัณฑิต เฉลียวฉลาดในอุบาย เราทั้งหลายจักเห็นพระองค์

แต่นั้นมา ชนเป็นอันมากพร้อมกันนำเครื่องบรรณาการถวาย มีมหรสพใหญ่ในพระนคร ลาดเครื่องลาดที่ทำด้วยฝีมือเป็นต้นในพระราชนิเวศ ห้อยพวงของหอมพวงดอกไม้เป็นต้น โปรยปรายข้าวตอก ทำเครื่องอุปกรณ์ดอกไม้ เครื่องอบธูปและเครื่องหอม จัดตั้งไว้ซึ่งน้ำและโภชนาหารมีประการต่าง ๆ ในภาชนะเงิน ภาชนะทองคำ เพื่อเป็นเครื่องราชบรรณาการถวายพระมหาสัตว์เจ้า ยืนแวดล้อมอยู่ในที่นั้น ๆ

หมู่อำมาตย์เฝ้าอยู่ ณ ปะรำหนึ่ง หมู่พราหมณ์เฝ้าอยู่ ณ ปะรำหนึ่ง หมู่เศรษฐีเป็นต้น ปะรำหนึ่ง เหล่านางสนมทรงรูปโฉม ปะรำหนึ่ง ฝ่ายพราหมณ์ทั้งหลายก็พร้อมกันสาธยายมนต์ เพื่ออำนวยสวัสดี เหล่าผู้กล่าวชัยมงคลด้วยปากก็พร้อมกันร้อง ถวายชัยมงคลกึกก้อง เหล่าผู้ชำนาญการขับร้องเป็นต้นก็พร้อมกันขับเพลงถวายอยู่อึงมี่ ชนทั้งหลายก็บรรเลงดนตรีเป็นร้อย ๆ อย่างอยู่ครามครัน พระราชนิเวศวังสถาน ก็บันลือลั่นสนั่นศัพท์สำเนียงเป็นเสียงเดียวกัน ปานท้องมหาสมุทรถูกลมพัดมาแต่ขุนเขายุคนธรฟัดฟาดแล้วฉะนั้น สถานที่ซึ่งพระมหาสัตว์ ทอดพระเนตรแล้ว ๆ ก็กัมปนาทหวั่นไหว

พระมหาสัตว์ประทับ ณ พระราชอาสน์ ภายใต้พระมหาเศวตฉัตรทอดพระเนตรสิริวิลาสอันใหญ่เพียงดังสิริของท้าวสักกเทวราช ก็ทรงอนุสรณ์ถึงความพยายาม ที่พระองค์ได้ทรงทำในมหาสมุทร เมื่อท้าวเธอทรงอนุสรณ์ถึงความพยายามเช่นนั้นแล้ว จึงทรงมนสิการว่า ชื่อว่าความเพียร ควรทำแท้ ถ้าเราไม่ได้ทำความเพียรในมหาสมุทร เราจักไม่ได้สมบัตินี้ เมื่อทรงอนุสรณ์ถึงความเพียรนั้น ก็เกิดพระปีติโสมนัสซาบซ่าน จึงทรงเปล่งพระอุทานด้วยกำลังพระปีติ ตรัสว่า

บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงหวังร่ำไป ไม่ตัดความหวังเสีย ไม่พึงเบื่อหน่ายในการกระทำความเพียร เราได้เป็นพระราชาตามที่เราปรารถนา

นรชนผู้มีปัญญา แม้อันทุกข์ถูกต้องแล้ว ไม่พึงตัดความหวังเพื่อการมาแห่งความสุขเสีย จริงอยู่ บุคคลเป็นอันมาก อันผัสสะที่ไม่เป็นประโยชน์กระทบกระทั่งก็ดี อันผัสสะที่เป็นประโยชน์กระทบกระทั่งก็ดี บุคคลเหล่านั้นไม่ตรึกถึงความข้อนี้ จึงเข้าถึงความตาย ความคิดที่ยังมิได้คิดก็มีอยู่บ้าง ความคิดที่คิดแล้วเสื่อมหายไปบ้าง โภคะทั้งหลายของสตรีหรือบุรุษ หาสำเร็จด้วยความคิดไม่

ตั้งแต่นั้นมา พระมหาสัตว์ทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรม ครองราชสมบัติโดยธรรม ทรงบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย

กาลต่อมา พระนางสีวลีเทวีประสูติพระราชโอรส ซึ่งสมบูรณ์ด้วยลักษณะแห่งความมั่งคั่งและความมีบุญ พระชนกและพระชนนี ทรงขนานพระนามว่า ทีฆาวุราชกุมาร เมื่อทีฆาวุราชกุมารทรงเจริญวัย พระราชาประทานอุปราชาภิเษกแล้ว ครองราชสมบัติอยู่เจ็ดพันปี

วันหนึ่ง เมื่อนายอุทยานบาลนำผลไม้น้อยใหญ่ต่าง ๆ และดอกไม้ต่าง ๆ มาถวาย พระมหาชนกราชมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นของเหล่านั้นทรงยินดี ทรงยกย่องนายอุทยานบาลนั้น ตรัสว่า ดูก่อนนายอุทยานบาล เราใคร่จะเห็นอุทยาน ท่านจงตกแต่งไว้ นายอุทยานบาล รับพระราชดำรัสแล้วทำตามรับสั่ง แล้วกราบทูลให้ทรงทราบ พระมหาสัตว์ประทับบนคอช้างเสด็จออกจากพระนครด้วยราชบริพารเป็นอันมาก ถึงประตูพระราชอุทยาน ที่ใกล้ประตูพระราชอุทยานนั้น มีต้นมะม่วงสองต้นมีใบเขียวชอุ่ม ต้นหนึ่งไม่มีผลต้นหนึ่งมีผล ผลนั้นมีรสหวานเหลือเกิน ใคร ๆ ไม่อาจเก็บผลจากต้นนั้นเพราะผลซึ่งมีรสเลิศอันพระราชายังมิได้เสวย

พระมหาสัตว์ประทับบนคอช้างทรงเก็บเอาผลหนึ่งเสวย ผลมะม่วงนั้นพอตั้งอยู่ที่ปลายพระชิวหาของพระมหาสัตว์ปรากฏดุจโอชารสทิพย์ พระมหาสัตว์ทรงคิดว่า เราจักกินให้มากเวลากลับ แล้วเสด็จเข้าสู่พระราชอุทยาน คนอื่น ๆ มีอุปราชเป็นต้นจนถึงคนรักษาช้าง รักษาม้า รู้ว่าพระราชาเสวยผลมีรสเลิศแล้ว ก็เก็บเอาผลมากินกัน ฝ่ายคนเหล่าอื่นยังไม่ได้ผลนั้น ก็ทำลายกิ่งด้วยท่อนไม้ ทำเสียไม่มีใบ ต้นก็หักโค่นลง แต่มะม่วงอีกต้นหนึ่งตั้งอยู่งดงาม ดุจภูเขามีพรรณดังแก้วมณี

พระราชาเสด็จออกจากพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงตรัสถามเหล่าอำมาตย์ว่า นี่อะไรกัน

เหล่าอำมาตย์กราบทูลว่า มหาชนทราบว่า พระองค์เสวยผลมีรสเลิศแล้ว ต่างก็แย่งกันกินผลมะม่วงนั้น

พระราชาตรัสถามว่า ใบและวรรณะของต้นนี้สิ้นไปแล้ว ใบและวรรณะของต้นนอกนี้ยังไม่สิ้นไป เพราะเหตุไร

อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ใบและวรรณะของอีกต้นหนึ่งไม่สิ้นไป เพราะไม่มีผล

พระราชาทรงสดับดังนั้น ได้ความสังเวชทรงดำริว่า ต้นนี้มีวรรณะสดเขียวตั้งอยู่แล้ว เพราะไม่มีผล แต่ต้นนี้ถูกหักโค่นลง เพราะมีผล แม้ราชสมบัตินี้ก็เช่นกับต้นไม้มีผล บรรพชาเช่นกับต้นไม้หาผลมิได้ ภัยย่อมมีแก่ผู้มีความกังวล ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีความกังวล ก็เราจักไม่เป็นเหมือนต้นไม้มีผล จักเป็นเหมือนต้นไม่หาผลมิได้ เราจักสละราชสมบัติออกบวช

ทรงอธิษฐานพระมนัสมั่น เสด็จเข้าสู่พระนคร เสด็จขึ้นปราสาทประทับที่พระทวารปราสาท ให้เรียกเสนาบดีมาตรัสสั่งว่า นับแต่วันนี้ คนอื่นนอกจากผู้ผู้เชิญเครื่องเสวยมาและเป็นผู้ถวายน้ำบ้วนพระโอฐและไม้สีพระทนต์ อย่ามาหาเราเลย ท่านทั้งหลายจงถือตามเหล่าอำมาตย์ผู้วินิจฉัยคนเก่าว่ากล่าวราชกิจ ตั้งแต่วันนี้ไป เราจักเจริญสมณธรรมในพระตำหนักชั้นบน ตรัสสั่งดังนี้แล้ว เสด็จขึ้นสู่ปราสาทเจริญสมณธรรมพระองค์เดียวเท่านั้น

เมื่อกาลล่วงไปอย่างนี้ มหาชนประชุมกันที่พระลานหลวง ไม่เห็นพระมหาสัตว์ ก็กล่าวว่า พระราชาของพวกเราไม่เหมือนพระองค์เก่า แล้วกล่าวว่า

ดูกรท่านผู้เจริญ พระราชาผู้ครอบครองภาคพื้นทั้งปวง ผู้เป็นใหญ่ในทิศไม่ทรงเป็นเหมือนแต่ก่อน บัดนี้ไม่ทอดพระเนตรการฟ้อนรำ ไม่ทรงใส่พระทัยในการขับร้อง ไม่ทอดพระเนตรฝูงเนื้อ ไม่เสด็จประพาสพระราชอุทยาน ไม่ทอดพระเนตรฝูงหงส์ พระองค์ประทับนิ่งเฉยเหมือนคนใบ้ ไม่ทรงว่าราชการอะไรๆ

ได้ยินว่า พวกเขาเหล่านั้น ถามผู้เชิญเครื่องเสวยและผู้ปฏิบัติบำรุงว่า พระราชาทรงปรึกษาข้อความอะไร ๆ กับพวกท่านบ้าง เขากล่าวว่ามิได้ทรงปรึกษาเลย เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวอย่างนี้

พระราชาทรงมีพระมนัสไม่พัวพันในกามทั้งหลาย น้อมพระทัยไปในวิเวก ทรงระลึกถึงเหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้คุ้นเคยในราชสกุล ทรงดำริว่าใครหนอจักบอกสถานที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลเป็นต้น ผู้หากังวลมิได้เหล่านั้นแก่เรา แล้วทรงเปล่งอุทานว่า

นักปราชญ์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุข มีศีลอันปกปิด คือประกาศคุณหาที่สุดมิได้ ปราศจากเครื่องผูกคือ กิเลส ทั้งหนุ่มทั้งแก่ มีตัณหาอันก้าวล่วงแล้ว อยู่ ณ อารามของใครหนอ

เมื่อพระราชาทรงอนุสรณ์ถึงคุณของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น เกิดพระปีติอย่างมาก ครั้งนั้น พระราชาเสด็จลุกจากบัลลังก์ทรงเปิดสีหบัญชรด้านทิศอุดร ผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดรประดิษฐานอัญชลีไว้เหนือพระเศียร เมื่อทรงนมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ประกอบด้วยคุณอันอุดมเห็นปานนี้ จึงตรัสว่า

ในวันนี้ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมนักปราชญ์เหล่านั้น ผู้แสวงหาคุณใหญ่ นักปราชญ์เหล่าใดเป็นผู้ไม่ขวนขวายอยู่ในโลก อันถึงซึ่งความขวนขวาย นักปราชญ์เหล่านั้นตัดเสียซึ่งข่าย คือ ตัณหาอันมั่นคงแห่งมฤตยูผู้มีมารยาอย่างยิ่ง ทำลายเสียด้วยญาณไปอยู่ ใครจะพึงนำเราไปให้ถึงสถานที่อยู่แห่งนักปราชญ์เหล่านั้นได้

เมื่อพระมหาสัตว์ทรงเจริญสมณธรรมอยู่บนปราสาทนั่นแล เวลาล่วงไปสี่เดือน ลำดับนั้น พระหฤทัยของพระองค์ได้น้อมไปในบรรพชาอย่างยิ่ง พระราชนิเวศปรากฏดุจโลกันตนรก ภพทั้งสามปรากฏแก่พระองค์เหมือนถูกไฟไหม้ พระมหาสัตว์มีพระหฤทัยมุ่งเฉพาะต่อบรรพชา ทรงจินตนาการว่าเมื่อไรหนอ เราจะสามารถที่จะละกรุงมิถิลานี้ แล้วไปสู่ป่าหิมวันต์ ทรงเพศบรรพชิตได้

ได้ยินว่า พระมหาสัตว์บังเกิดในกาลที่คนมีอายุหมื่นปี เสวยราชสมบัติเจ็ดพันปี ได้ทรงผนวชในเมื่อพระชนมายุยังเหลืออยู่ประมาณสามพันปี ก็เมื่อจะทรงผนวช ได้เสด็จอยู่ในฆราวาสวิสัยสี่เดือน นับแต่กาลที่ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงที่ประตูพระราชอุทยาน ทรงดำริว่า เพศแห่งบรรพชิตประเสริฐกว่าเพศแห่งพระราชานี้ เราจักบวช จึงตรัสสั่งราชบุรุษผู้รับใช้เป็นความลับว่า เจ้าจงนำผ้าย้อมฝาดและบาตรดินมาแต่ร้านตลาด อย่าให้ใคร ๆ รู้ ราชบุรุษนั้นก็ได้ทำตามรับสั่ง

พระราชาโปรดให้เรียกเจ้าพนักงานภูษามาลามาให้ปลงพระเกศาและพระมัสสุ พระราชทานบ้านส่วยแก่ภูษามาลาแล้วโปรดให้กลับไป ทรงนุ่งผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง ทรงห่มผืนหนึ่ง ทรงพาดผืนหนึ่งที่พระอังสา สวมบาตรดินในถุงคล้องพระอังสา ทรงธารพระกรสำหรับคนแก่แต่ที่นั้น เสด็จจงกรมไปมาในปราสาทด้วยปัจเจกพุทธลีลาสิ้นวันเล็กน้อย ทรงเปล่งอุทานว่า โอ บรรพชาเป็นสุข เป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นสุขอันประเสริฐ

พระมหาสัตว์เสด็จประทับอยู่ในปราสาทนั้นแล ตลอดวันนั้น วันรุ่งขึ้นทรงปรารภจะเสด็จลงจากปราสาทในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น คราวนั้นพระนางสีวลีเทวีตรัสเรียกสตรีคนสนิทเจ็ดร้อยเหล่านั้นมารับสั่งว่า พวกเราไม่ได้เห็นพระราชาของเราทั้งหลาย ล่วงมาได้สี่เดือนแล้ว วันนี้เราทั้งหลายจักพากันไปเฝ้าท้าวเธอ ท่านทั้งหลายพึงตกแต่งด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง แสดงเยื้องกรายมีกิริยาอาการร่าเริง เพ็ดทูล ขับร้องอย่างสตรีเป็นต้นตามกำลัง พยายามผูกพระองค์ไว้ด้วยเครื่องผูกคือกิเลส

แม้พระเทวีก็ทรงประดับตกแต่งพระองค์ แล้วเสด็จขึ้นปราสาทกับด้วยสตรีเหล่านั้น ด้วยทรงคิดว่า จักเฝ้าพระราชา แม้ทอดพระเนตรเห็นพระราชาเสด็จลงอยู่ ก็ทรงจำไม่ได้ ถวายบังคมพระราชาแล้วประทับอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ด้วยทรงสำคัญว่าบรรพชิตนี้จักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้ามาถวายโอวาทพระราชา ฝ่ายพระมหาสัตว์ก็เสด็จลงจากปราสาทไป

พระเทวีเมื่อเสด็จขึ้นไปยังปราสาท ทอดพระเนตรเห็นพระเกศาของพระราชาบนหลังพระที่สิริไสยาสน์ และห่อเครื่องราชาภรณ์ จึงตรัสว่า บรรพชิตนั้นไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า จักเป็นพระราชสวามีที่รักของพวกเรา มาเถิดท่านทั้งหลาย เราทั้งหลายจักทูลวิงวอนพระองค์ให้เสด็จกลับ จึงเสด็จลงจากปราสาทตามไปทันพระราชาที่หน้าพระลาน ครั้นถึงจึงสยายเกศาเรี่ยรายเบื้องพระปฤษฎางค์ กับด้วยสตรีทั้งปวงเหล่านั้น ข้อนทรวงด้วยพระหัตถ์ทั้งสองกราบทูลว่า พระองค์ทรงทำการอย่างนี้ เพราะเหตุไร พระเจ้าข้า ทรงคร่ำครวญติดตามพระราชาไปอย่างน่าสงสารยิ่ง

ครั้งนั้น พระนครทั้งสิ้นก็เอิกเกริกโกลาหล ฝ่ายชาวเมืองเหล่านั้นกล่าวว่า ได้ยินว่า พระราชาของพวกเราทรงผนวชเสียแล้ว พวกเราจักได้พระราชาผู้ดำรงอยู่ในยุติธรรมเห็นปานนี้แต่ไหนอีกเล่า แล้วต่างร้องไห้ติดตามพระราชาไป

พระบรมศาสดาเมื่อทรงทำให้แจ้งซึ่งเสียงคร่ำครวญของหญิงเหล่านั้น และความที่พระราชาทรงละหญิง แม้ที่กำลังคร่ำครวญอยู่เหล่านั้นเสีย เสด็จไปเพราะเหตุการณ์นั้น จึงตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเจ้ามหาชนกราชนั้นทรงทิ้งพระสนมนารีเจ็ดร้อยเหล่านั้นซึ่งรำพันเพ้ออยู่ว่า พระองค์ละพวกข้าพระองค์เสด็จไปแต่ผู้เดียวทำไม ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความผิดอะไรหรือ พระองค์มุ่งเสด็จไปดุจถูกท้วงว่า พระองค์ปราศจากสมบัติเสด็จออกผนวช.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชาพระองค์นั้น ทรงอุ้มบาตรดินนั้นให้เป็นอันอภิเษกครั้งที่สอง เสด็จออกอยู่

พระนางสีวลีเทวีแม้ทรงคร่ำครวญอยู่ก็ไม่อาจยังพระราชาให้เสด็จกลับได้ ทรงคิดว่า มีอุบายอยู่อย่างหนึ่ง จึงให้เรียกมหาเสนาคุตมาเฝ้า แล้วตรัสสั่งว่า ท่านจงจุดไฟเผาเรือนเก่าศาลาเก่า ในส่วนทิศเบื้องหน้าที่พระราชาเสด็จไปจงรวบรวมหญ้าและใบไม้นำมาสุมให้เป็นควันมากในที่นั้น ๆ มหาเสนาคุตได้ทำอย่างนั้น พระนางสีวลีเทวีเสด็จไปสู่สำนักของพระราชา หมอบแทบพระยุคลบาทกราบทูลความที่ไฟไหม้กรุงมิถิลา ตรัสว่า

ข้าแต่พระองค์ คลังของเราทั้งหลายเหล่านั้น มีคลังเงิน คลังทอง คลังแก้วมุกดา คลังแก้วไพฑูรย์ คลังแก้วมณี คลังสังข์ คลังไข่มุก คลังผ้า คลังจันทน์เหลือง คลังหนัง คลังงาช้าง คลังพัสดุ คลังทองแดง คลังเหล็ก เป็นอันมาก กำลังถูกเพลิงไหม้ลุกโพลงน่ากลัว คลังเหล้านั้นแม้แบ่งไว้เป็นส่วน ๆ ก็ถูกไฟไหม้หมด

ข้าแต่พระราชาขอเชิญเสด็จกลับก่อนเถิด มาเถิดขอพระองค์จงดับไฟนั้น พระองค์จะเสด็จไปภายหลัง พระองค์จักถูกครหาว่าเสด็จออกไปโดยไม่เหลียวแลพระนครที่กำลัง ถูกไฟไหม้อยู่เลย พระองค์จักมีความวิปฏิสารเพราะความละอายนั้น มาเถิด พระองค์โปรดสั่งเหล่าอำมาตย์ให้ดับไฟเถิด พระเจ้าข้า

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสกะพระนางสีวลีว่า พระเทวี เธอตรัสอะไรอย่างนั้น ความกังวลด้วยของเหล่าใดมีอยู่ ความกังวลนั้นด้วยของเหล่านั้นเพลิงเผาผลาญอยู่ แต่เราทั้งหลายหาความกังวลมิได้ เมื่อจะทรงแสดงข้อความนั้น จึงตรัสว่า

กิเลสเครื่องกังวลของเราทั้งหลายเหล่าใด ไม่มี เราทั้งหลายเหล่านั้นมีชีวิตเป็นสุข เป็นสุขดีหนอ เพราะไม่มีความกังวลนั้น เมื่อกรุงมิถิลาถูกเพลิงเผาผลาญอยู่ ของอะไร ๆ ของเรามิได้ถูกเผาผลาญเลย เราไม่เห็นสิ่งของส่วนตัวของเราแม้หน่อยหนึ่งถูกเผาผลาญ

ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ได้เสด็จออกทางประตูทิศอุดร พระสนมกำนัลใน ทั้งเจ็ดร้อยแม้เหล่านั้นก็ออกตามเสด็จไป พระนางสีวลีเทวีทรงคิดอุบายอีกอย่างหนึ่ง จึงตรัสสั่งอำมาตย์ทั้งหลายว่า พวกท่านจงแสดงเหตุการณ์ให้เป็นเหมือนโจรฆ่าชาวบ้านและปล้นแว่นแคว้น อำมาตย์ได้จัดการตามกระแสรับสั่ง ขณะนั้น คนทั้งหลายก็แสดงพวกคนถืออาวุธวิ่งแล่นไป ๆ แต่ที่นั้น ๆ เป็นราวกะว่าปล้นอยู่ รดน้ำครั่งลงในสรีระเป็นราวกะว่าถูกประหารให้นอนบนแผ่นกระดาน เป็นราวกะว่า ตายถูกน้ำพัดไป ต่อพระราชา มหาชนทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช พวกโจรปล้นแว่นแคว้น ฆ่าข้าแผ่นดินของพระองค์ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ยังดำรงพระชนม์อยู่ แม้พระเทวี ก็ถวายบังคมพระราชา ตรัสคาถาเพื่อให้เสด็จกลับว่า

เกิดพวกโจรในดงขึ้นแล้ว พากันมาปล้นแว่นแคว้นของพระองค์ ข้าแต่พระราชา ขอเชิญเสด็จกลับเถิด อย่าให้แว่นแคว้นนี้พินาศเสียเลย

พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้วมีพระดำริว่า เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ จะไม่เกิดโจรปล้นทำลายแว่นแคว้นเลย นี้จักเป็นการกระทำของพระสีวลิเทวี เมื่อจะทรงทำให้พระนางจำนนต่อถ้อยคำ จึงตรัสว่า

เราทั้งหลายผู้ไม่มีความกังวล เป็นสุขดีจริงหนอ เมื่อแว่นแคว้นถูกปล้นอะไรหน่อยหนึ่งของเรามิได้ถูกปล้น เราทั้งหลายผู้ไม่มีความกังวล เป็นสุขดีจริงหนอ เราทั้งหลายจักมีปีติเป็นภักษา เหมือนดังเทพเจ้าเหล่าอาภัสสระ ฉะนั้น

แม้เมื่อพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว มหาชนก็ยังติดตามพระองค์ไปอยู่นั่นเอง พระมหาสัตว์มีพระดำริว่า มหาชนเหล่านั้นไม่ปรารถนาจะกลับ เราจักให้มหาชนนั้นกลับ เมื่อทรงดำเนินทางไปได้กึ่งคาวุต พระองค์จึงทรงหยุดพักประทับยืนในทางใหญ่ ตรัสถามอำมาตย์ทั้งหลายว่า ราชสมบัตินี้ของใคร

อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ของพระองค์

ท้าวเธอจึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงลงราชทัณฑ์แก่ผู้ทำรอยขีดนี้ให้ขาด

ตรัสฉะนี้แล้วทรงเอาธารพระกรลากให้เป็นรอยขีดขวางทาง ใคร ๆ ไม่สามารถทำรอยขีดที่พระราชาผู้มีพระเดชานุภาพได้ทรงขีดไว้ให้ขาดลบเลือน มหาชนคร่ำครวญกันไปมา แม้พระนางสีวลีเทวีก็ไม่ทรงสามารถทำรอยขีดนั้นให้เลือนหายได้ ทอดพระเนตรเห็นพระราชาหันพระปฤษฏางค์เสด็จไปอยู่ ไม่สามารถจะกลั้นโศกาดูร ก็ข้อนพระอุระล้มขวางทางใหญ่กลิ้งเกลือกไปมาล่วงเลยรอยขีดนั้นเสด็จไป มหาชนเข้าใจว่า เจ้าของรอยขีดได้ทำลายรอยขีดแล้ว จึงพากันโดยเสด็จไปตามมรรคาที่พระเทวีเสด็จไป พระมหาสัตว์ทรงบ่ายพระพักตร์เสด็จไปหิมวันตประเทศทางทิศอุดร ฝ่ายพระนางสีวลีเทวีก็พาเสนาพลพาหนะทั้งปวง ตามเสด็จไปด้วย พระราชาไม่อาจที่จะให้มหาชนกลับได้ เสด็จไปสิ้นทางประมาณหกสิบโยชน์

ในกาลนั้น มีดาบสรูปหนึ่งชื่อนารทะ อยู่ที่สุวรรณคูหาในหิมวันตประเทศ กระทำให้เวลาล่วงไปด้วยสุขเกิดแต่ฌานอันสัมปยุตด้วยอภิญญาห้า ล่วงเจ็ดวันก็ออกจากสุขเกิดแต่ฌาน เปล่งอุทานว่า โอ เป็นสุข เป็นสุขอย่างยิ่ง ดาบสนั้นตรวจดูสัตวโลกด้วยทิพยจักษุว่า ใคร ๆ ในพื้นชมพูทวีปผู้แสวงหาสุขเช่นนี้ มีบ้างหรือไม่หนอ ก็เห็นพระมหาชนกผู้พุทธางกูร จึงคิดว่า พระมหาชนกนั้นเป็นพระราชาออกมหาภิเนษกรมณ์ ไม่สามารถจะยังมหาชนและราชบริพารอันมีพระนางสีวลีเทวีเป็นประมุขให้กลับพระนครได้ ข้าราชบริพารนั้นพึงทำอันตรายแก่พระองค์ เราจักถวายโอวาทแก่พระองค์ เพื่อให้ทรงสมาทานมั่น โดยยิ่งโดยประมาณ จึงไปด้วยกำลังฤทธิ์ สถิตอยู่ในอากาศตรงเบื้องพระพักตร์พระราชา กล่าวคาถาให้พระองค์เกิดอุตสาหะว่า

เสียงอันกึกก้องของหมู่ชนเป็นอันมากนี้ เพราะอะไร นั่นใครหนอมากับท่านเหมือนเล่นกันอยู่ในบ้าน ดูกรสมณะ อาตมภาพขอถามท่านมหาชนนี้ติดตามท่านมาเพื่อประโยชน์อะไร

พระราชาตรัสตอบว่า

มหาชนนี้ติดตามข้าพเจ้าผู้ละทิ้งพวกเขาไปในที่นี้ ข้าพเจ้าผู้ล่วงเสียซึ่งเขตแดน คือ กิเลส ออกบวชเพื่อบรรลุถึงมโนธรรม คือ ญาณของพระมุนี แต่ยังเจือด้วยความเพลิดเพลินทั้งหลายอยู่ พระผู้เป็นเจ้ารู้อยู่จะถามทำไม

ลำดับนั้น นารทดาบสกล่าวอีก เพื่อต้องการให้พระมหาสัตว์สมาทานมั่น ว่า

พระองค์เพียงแต่ทรงสรีระอันครองผ้ากาสาวะนี้ อย่าได้สำคัญว่าเราข้ามพ้นเขตแดน คือ กิเลสแล้ว กรรม คือ กิเลสนี้ จะพึงข้ามได้ด้วยการทรงเพศบรรพชิตก็หาไม่ เพราะอันตราย คือ กิเลสของพระองค์ยังมีอยู่มาก

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า

อันตรายอะไรหนอ จะพึงมีแก่ข้าพเจ้าผู้มีปกติอยู่ผู้เดียวอย่างนี้ ไม่ปรารถนากามทั้งหลายในมนุษยโลกและในเทวโลก

ลำดับนั้น นารทดาบสเมื่อจะแสดงอันตรายทั้งหลายแก่พระมหาสัตว์นั้น จึงกล่าวคาถาว่า

อันตรายเป็นอันมากแล คือ ความหลับ ความเกียจคร้าน ความง่วงเหงา ความไม่ยินดี ความเมาอาหาร ตั้งอยู่ในสรีระของพระองค์

ดูก่อนสมณะ พระองค์เป็นผู้มีพระรูปงามน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณดุจทองคำ เมื่อพระองค์รับสั่งว่า อาตมาละราชสมบัติออกทรงผนวช คนทั้งหลายจักถวายบิณฑบาตอันโอชาประณีตแก่พระองค์ พระองค์ทรงรับพอเต็มบาตรเสวยพอควรแล้วเข้าสู่บรรณศาลา บรรทม ณ ที่ลาดไม้ หลับกรนอยู่ ตื่นในระหว่าง พลิกกลับไปกลับมา ทรงเหยียดพระหัตถ์และพระบาท ลุกขึ้นจับราวจีวร เกียจคร้านไม่จับไม้กวาดกวาดอาศรม ไม่นำน้ำดื่มมา บรรทมหลับอีก ตรึกถึงกามวิตก กาลนั้นก็ไม่พอพระทัยในบรรพชา ความกระวนกระวายเพราะภัตตาหารจักมีแด่พระองค์ ด้วยประการฉะนี้.

อันตรายเหล่านี้ บังเกิดในสรีระของท่านนี่แหละ

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะตรัสชมนารทดาบสนั้น จึงตรัสว่า

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ท่านพร่ำสอนข้าพเจ้าดีหนอ ข้าพเจ้าขอถามท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใครหนอ

ลำดับนั้น นารทดาบสกล่าวว่า

ชนทั้งหลายรู้จักอาตมาโดยชื่อว่านารทะ โดยโคตรว่ากัสสปะ อาตมามาหาพระองค์ด้วยความสำคัญว่าการสมาคมกับสัตบุรุษทั้งหลายเป็นความดี พระองค์จงทรงมีความยินดีในบรรพชานี้ วิหารธรรมจงเกิดแก่พระองค์ กิจอันใดยังพร่องด้วยศีล การบริกรรมและฌาน พระองค์จงทรงบำเพ็ญกิจนั้น ให้บริบูรณ์ด้วยความอดทนและความสงบระงับอย่าถือพระองค์ว่าเป็นกษัตริย์ จงทรงคลายออกเสียซึ่งความยุบลงและความฟูขึ้น จงทรงกระทำโดยเคารพซึ่งกุศลกรรมบถวิชชาและสมณธรรมแล้วบำเพ็ญพรหมจรรย์

นารทดาบสนั้นถวายโอวาทพระมหาสัตว์อย่างนี้แล้ว กลับไปที่อยู่ของตนทางอากาศ

เมื่อนารทดาบสไปแล้ว มีดาบสอีกรูปหนึ่งชื่อมิคาชินะ ออกจากสมาบัติตรวจดูโลกเห็นพระมหาสัตว์ จึงมาแล้วดุจกัน ด้วยคิดว่า เราจักถวายโอวาทพระมหาสัตว์เพื่อประโยชน์ให้มหาชนกลับพระนคร จึงสถิตอยู่ ณ อัมพรวิถี สำแดงตนให้ปรากฏแล้วกล่าวว่า

ดูกรพระชนก พระองค์ทรงละช้าง ม้า ชาวนครและชนบทเป็นอันมากเสด็จออกผนวชทรงยินดีแล้วในบาตร ชาวชนบท มิตรอำมาตย์และพระประยูรญาติเหล่านั้น ได้กระทำความผิดให้แก่พระองค์หรือหนอเพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงชอบพระทัยบาตรนั้น

แต่นั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า

ข้าแต่ท่านผู้ครองหนังสัตว์ผู้เจริญ ข้าพเจ้ามิได้ผจญซึ่งญาติไร ๆ ในกาลไร ๆ โดยอธรรม แม้ญาติเหล่านั้นก็มิได้ผจญซึ่งข้าพเจ้าโดยอธรรม ไม่มีญาติคนไหนได้กระทำความผิดในข้าพเจ้า ด้วยประการฉะนี้

พระมหาสัตว์ทรงห้ามปัญหาแห่งมิคาชินดาบสนั้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้เมื่อจะทรงแสดงเหตุแห่งการทรงผนวชจึงตรัสว่า

ข้าแต่ท่านผู้ครองหนังสัตว์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้เห็นประเพณีของโลก เห็นโลกถูกกิเลสขบกัด ถูกกิเลสทำให้เป็นดังเปือกตม หากแม้ข้าพเจ้าจักติดอยู่ในกิเลสวัตถุนี้ ข้าพเจ้าก็จักถูกฆ่าและถูกจองจำเหมือนสัตว์เหล่านี้ ดังนั้นจึงทำเหตุการณ์นั่นแหละเป็นเครื่องเปรียบเทียบว่า ปุถุชนจมอยู่แล้วในกิเลสวัตถุใด สัตว์เป็นอันมากย่อมถูกประหาร และถูกฆ่าในกิเลสวัตถุนั้น ดังนี้ จึงได้บวชเป็นภิกษุ

ดาบสใคร่จะฟังเหตุการณ์นั้นโดยพิสดาร จึงกล่าวคาถาว่า

ใครหนอเป็นผู้จำแนกแจกอรรถสั่งสอนพระองค์ คำสอนนี้เป็นคำของใคร ดูกรพระองค์ผู้เป็นจอมทัพ เพราะพระองค์หาได้ตรัสบอกดาบสผู้เป็นกรรมวาทีหรือสมณะคือพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยวิชชาซึ่งเป็นไปล่วงทุกข์ไม่

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวกะดาบสนั้นว่า

ข้าแต่ท่านผู้ครองหนังสัตว์ แม้ข้าพเจ้าจะสักการะสมณะและพราหมณ์โดยส่วนเดียว แต่ไม่เคยเข้าใกล้ไต่ถามอะไรๆ ในกาลไหนๆ เลย

ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์จึงตรัสเพื่อทรงแสดงเหตุที่ทรงผนวชตั้งแต่ต้นว่า

ข้าแต่ท่านผู้ครองหนังสัตว์ ข้าพเจ้าไปยังราชอุทยานด้วยกระบวนใหญ่ เมื่อชาวพนักงานกำลังขับเพลงประโคมดนตรีอยู่ ข้าพเจ้านั้นได้เห็นต้นมะม่วงกำลังมีผลอยู่ภายนอกกำแพง ในพระราชอุทยานอันกึกก้องด้วยการประโคมดนตรี ประกอบด้วยคนขับและคนประโคม

ข้าพเจ้าละต้นมะม่วงอันมีศิรินั้น ที่มนุษย์ทั้งหลายผู้ปรารถนาผลฟาดตีอยู่ ลงจากคอช้างเข้าไปยังโคนต้นมะม่วงที่มีผลและไม่มีผล ข้าพเจ้าเห็นต้นมะม่วงอันมีผล ที่บุคคลเบียดเบียนหักแล้วปราศจากใบและก้าน และได้เห็นต้นมะม่วงอีกต้นหนึ่งมีใบเขียวสดงดงาม ศัตรูทั้งหลายย่อมกำจัดแม้พวกเราผู้เป็นอิสระ ผู้มีศัตรูดุจหนามเป็นอันมาก เปรียบเหมือนต้นมะม่วงมีผลอันมนุษย์ทั้งหลายเบียดเบียนแล้ว ฉะนั้นคนย่อมฆ่าเสือเหลืองเพราะหนัง ย่อมฆ่าช้างเพราะงา ย่อมฆ่าคนมั่งคั่งเพราะทรัพย์ ใครเล่าจักฆ่าคนที่ไม่มีเรือน ไม่มีสันถวะคือตัณหา ต้นมะม่วง ๒ ต้นคือ ต้นหนึ่งมีผลและต้นหนึ่งไม่มีผล เป็นผู้สั่งสอนข้าพเจ้า

มิคาชินดาบสได้ฟังดังนั้นแล้วจึงถวายโอวาทแด่พระราชาว่า ขอพระองค์จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด มหาบพิตร แล้วกลับไปยังที่อยู่ของตนทีเดียว

เมื่อมิคาชินดาบสไปแล้ว พระนางสีวลีเทวีหมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระราชา กราบทูลว่า

คนทั้งปวง คือ กองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า ตกใจว่าพระราชาทรงผนวชเสียแล้ว ขอพระองค์ทรงปลอบประชุมชนให้เบาใจทรงตั้งความคุ้มครอง ทรงอภิเษกพระราชโอรสในราชสมบัติแล้ว จึงทรงผนวชในภายหลังเถิด

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ตรัสว่า

ดูก่อนพระเทวีสีวลี ธรรมดาสมณะทั้งหลายย่อมไม่มีบุตร แต่ทีฆาวุกุมารเป็นบุตรของชาววิเทหรัฐ ชาววิเทหรัฐเหล่านั้นจักให้ครองราชสมบัติ

ลำดับนั้น พระนางสีวลีเทวีกราบทูลพระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่พระองค์พระองค์ทรงผนวชเสียก่อนแล้ว ก็หม่อมฉันจะกระทำอย่างไร พระมหาสัตว์จึงตรัสกะพระนางว่า ดูก่อนพระเทวี อาตมาจะให้เธอสำเหนียกตาม เธอจงทำตามคำของอาตมา แล้วตรัสว่า

มาเถิด อาตมาจักให้เธอศึกษาตามคำที่อาตมาชอบ เมื่อเธอให้โอรสครองราชสมบัติ แล้วพร่ำสอนเรื่องราชสมบัติ ด้วยคิดว่าลูกของเราเป็นพระราชา ก็จะทำบาปทุจริตเป็นอันมาก ด้วยกาย วาจาและใจ อันเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติ การยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยก้อนข้าวที่ผู้อื่นให้ซึ่งสำเร็จมาแต่ผู้อื่น นี้ เป็นธรรมของนักปราชญ์

พระมหาสัตว์ได้ประทานโอวาทแก่พระนางนั้นด้วยประการฉะนี้ เมื่อกษัตริย์ทั้งสองตรัสโต้ตอบกันและกัน และเสด็จดำเนินไป พระอาทิตย์ก็อัสดงคตพระเทวีมีพระเสาวนีย์ให้ตั้งค่ายในที่อันสมควร พระมหาสัตว์เสด็จประทับแรม ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ประทับอยู่ ณ ที่นั้นตลอดราตรี รุ่งขึ้นทรงทำสรีรกิจแล้วเสด็จไปตามมรรคา

ฝ่ายพระเทวีตรัสสั่งให้เสนาตามมาภายหลัง แล้วเสด็จไปเบื้องหลังแห่งพระมหาสัตว์ ทั้งสองพระองค์นั้นเสด็จถึงถูนนครในเวลาภิกขาจาร ขณะนั้นมีบุรุษคนหนึ่งภายในเมือง ซื้อเนื้อก้อนใหญ่มาแต่เขียงขายเนื้อ เสียบหลาวย่างบนถ่านเพลิงให้สุกแล้ว วางไว้ที่กระดานเพื่อให้เย็นได้ยืนอยู่ เมื่อบุรุษนั้นส่งใจไปที่อื่น สุนัขตัวหนึ่งคาบก้อนเนื้อนั้นหนีไป บุรุษนั้นรู้แล้วไล่ตามสุนัขนั้นไปเพียงนอกประตูด้านทักษิณ เบื่อหน่ายหมดอาลัยก็กลับบ้าน

พระราชากับพระเทวีเสด็จมาข้างหน้าสุนัขตามทางสองแพร่ง สุนัขนั้นทิ้งก้อนเนื้อหนีไปด้วยความกลัว พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นก้อนเนื้อนั้น ทรงจินตนาการว่าสุนัขนี้ทิ้งก้อนเนื้อนี้ไม่เหลียวแลเลยหนีไปแล้ว แม้คนอื่นผู้เป็นเจ้าของก็ไม่ปรากฏ อาหารเห็นปานนี้หาโทษมิได้ ชื่อว่าบังสุกุลบิณฑบาต เราจักบริโภคก้อนเนื้อนั้น พระองค์จึงนำบาตรดินออก ถือเอาเนื้อก้อนนั้นปัดฝุ่นแล้วใส่ลงในบาตร เสด็จไปยังที่มีน้ำบริบูรณ์ ทรงพิจารณาแล้วเริ่มเสวยเนื้อก้อนนั้น

ลำดับนั้น พระเทวีทรงดำริว่า ถ้าพระราชานี้มีพระราชประสงค์ราชสมบัติ จะไม่พึงเสวยก้อนเนื้อเห็นปานนี้ ซึ่งน่าเกลียด เปื้อนฝุ่น เป็นเดนสุนัข บัดนี้พระองค์จักมิใช่พระราชสวามีของเรา ทรงดำริฉะนี้แล้ว กราบทูลพระองค์ว่าข้าแต่พระมหาราช พระองค์ช่างเสวยเนื้อที่น่าเกลียดเห็นปานนี้ได้ พระมหาสัตว์ตรัสว่า ดูก่อนพระเทวี เธอไม่รู้จักความวิเศษของบิณฑบาตนี้เพราะเขลา ตรัสฉะนี้แล้วทรงพิจารณาสถานที่ก้อนเนื้อนั้นตั้งอยู่ เสวยก้อนเนื้อนั้นดุจเสวยอมตรส บ้วนพระโอฐล้างพระหัตถ์และพระบาทแล้ว ขณะนั้นพระเทวีเมื่อจะทรงตำหนิพระราชา จึงตรัสว่า

กุลบุตรผู้ฉลาด แม้ถ้าจะไม่ได้บริโภคอาหาร หรือจะตายเสียด้วยความอด แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น คนฉลาดก็ไม่ย่อมบริโภคอาหารเห็นปานนี้เลย คือไม่บริโภคก้อนข้าวอันคลุกฝุ่น ไม่สะอาดเลยมิใช่หรือ ข้าแต่พระมหาชนก พระองค์เสวยได้ซึ่งก้อนเนื้ออันเป็นเดนสุนัข ไม่สะอาด น่าเกลียดนัก

พระมหาสัตว์ ตรัสตอบว่า

ดูกรพระนางสีวลี บิณฑบาตใด เป็นอาหารที่คฤหัสถ์หรือสุนัขสละแล้ว บิณฑบาตนั้น ชื่อว่าเป็นอาหารของอาตมา ของบริโภคเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้ที่ได้มาแล้วโดยธรรม ของบริโภคทั้งหมดนั้นกล่าวกันว่าไม่มีโทษ

เมื่อกษัตริย์สององค์ตรัสสนทนากะกันอยู่อย่างนี้ พลางเสด็จดำเนินไปก็ลุถึงประตูถูนนคร เมื่อทารกทั้งหลายในนครนั้นกำลังเล่นกันอยู่ มีนางกุมาริกาคนหนึ่งเอากระด้งน้อยฝัดทรายเล่นอยู่ กำไลอันหนึ่งสวมอยู่ในข้อมือข้างหนึ่งของนาง กำไลสองอันสวมอยู่ในข้อมือข้างหนึ่ง กำไลสองอันนั้นกระทบกันมีเสียง กำไลอีกอันหนึ่งไม่มีเสียง พระราชาทรงทราบเหตุนั้น มีพระดำริว่าบัดนี้ พระนางสีวลีตามหลังเรามา ขึ้นชื่อว่าสตรีย่อมเป็นมลทินของบรรพชิต ชนทั้งหลายเห็นนางตามเรามา จักติเตียนเราว่า บรรพชิตนี้แม้บวชแล้ว ก็ยังไม่สามารถจะละภรรยาได้ ถ้านางกุมารีนี้ฉลาด จักพูดถึงเหตุให้นางสีวลีกลับ เราจักฟังถ้อยคำของนางกุมารีนี้ แล้วส่งนางสีวลีกลับ มีพระดำริฉะนี้แล้ว เสด็จเข้าไปใกล้นางกุมารีนั้น เมื่อจะตรัสถามจึงตรัสว่า

ดูกรนางกุมาริกาผู้นอนใกล้มารดา ผู้ประดับประดาเป็นนิตย์ เพราะเหตุไรกำไลมือ ของเธอข้างหนึ่งจึงมีเสียงดัง อีกข้างหนึ่งไม่มีเสียงดัง

นางกุมาริกากล่าวว่า

ข้าแต่สมณะ กำไลมือสองอันซึ่งสวมอยู่ที่มือของดิฉันนี้ เพราะกำไลสองอันกระทบกันจึงมีเสียงดัง กำไลมือสองอันจึงมีเสียงดัง กำไลมืออันหนึ่งสรวมอยู่ที่ข้อมือของดิฉัน ไม่มีอันที่สอง จึงไม่เกิดเสียงดังราวกะว่ามุนีสงบนิ่งอยู่ บุคคลสองคนถึงความวิวาทกัน บุคคลคนเดียวจักวิวาทกับใคร ท่านผู้ปรารถนาสวรรค์จงชอบความเป็นผู้เดียวเถิด

ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วนางกุมาริกานั้นได้กล่าวอย่างนี้อีก คือกล่าวสอนพระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ธรรมดาสมณะทั้งหลาย ย่อมจะไม่พาแม้น้องสาวเที่ยวไปเลย แต่เหตุไร ท่านจึงพาภริยาซึ่งทรงรูปอันอุดมเห็นปานนี้เที่ยวไป ภริยานี้จักทำอันตรายแก่ท่าน ท่านจงนำภริยานี้ออกไปอยู่ผู้เดียวเท่านั้น บำเพ็ญสมณธรรมให้สมควรเถิด

พระมหาสัตว์ได้สดับคำของกุมาริกาสาวนั้นแล้ว ทรงได้ปัจจัย เมื่อจะตรัสกับพระเทวี จึงตรัสว่า

ดูกรพระนางสีวลี เธอได้ยินที่นางกุมาริกากล่าวแล้วหรือ นางกุมาริกาเป็นเพียงสาวใช้มาติเตียนเรา ความประพฤติของเราทั้งสอง อาตมาเป็นบรรพชิต เธอเป็นสตรีเดินตามกันมา ย่อมเป็นเหตุแห่งคำติเตียน

ดูกรนางผู้เจริญ ทางสองแพร่งนี้ อันเราทั้งสองผู้เดินทางสัญจรมาแล้วเธอจงถือเอาทางหนึ่ง อาตมาก็จักถือเอาอีกทางหนึ่ง เธออย่าเรียกอาตมาว่า เป็นพระสวามีของเธอและอาตมาก็จะไม่เรียกเธอว่า เป็นพระมเหสีของอาตมาอีก

พระนางสีวลีเทวีได้ทรงฟังพระดำรัสของพระมหาสัตว์แล้ว กราบทูลว่าข้าแต่พระองค์ พระองค์เป็นกษัตริย์สูงสุด จงถือเอาทางเบื้องขวา ส่วนข้าพระองค์เป็นสตรีชาติต่ำ จักถือเอาทางเบื้องซ้าย กราบทูลฉะนี้แล้ว ถวายบังคมพระมหาสัตว์แล้วเสด็จไปได้หน่อยหนึ่ง ไม่สามารถจะกลั้นโศกาดูรไว้ได้ก็เสด็จมาอีก โดยเสด็จไปกับพระราชาเข้าถูนนครด้วยกัน

ก็แลครั้นเสด็จเข้าไปแล้ว พระมหาสัตว์เสด็จเที่ยวบิณฑบาต เสด็จถึงประตูเรือนของช่างศร แม้พระนางสีวลีเทวีก็เสด็จตามไปเบื้องหลัง ประทับอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง สมัยนั้น ช่างศรกำลังลนลูกศรบนกระเบื้องถ่านเพลิงเอาน้ำข้าวทาลูกศร หลับตาข้างหนึ่ง เล็งดูด้วยตาข้างหนึ่ง ดัดลูกศรให้ตรงพระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น มีพระดำริว่า ถ้าช่างศรผู้นี้จักเป็นคนฉลาด จักกล่าวเหตุอย่างหนึ่งแก่เรา เราจักถามเขาดู จึงเสด็จเข้าไปหาช่างศรแล้วตรัสถามช่างศรนั้นว่า

ดูกรนายช่างศร ท่านจงฟังอาตมา ท่านหลับตาข้างหนึ่งเล็งดูลูกศรอันคดด้วยนัยน์ตาข้างหนึ่งด้วยประการใด ท่านเห็นความสำเร็จประโยชน์ด้วยประการนั้นหรือหนอ

ลำดับนั้น เมื่อช่างศรจะทูลแก่พระมหาสัตว์นั้น จึงกล่าวว่า

ข้าแต่สมณะ การเล็งด้วยนัยน์ตาทั้งสอง จะปรากฏว่าเหมือนพร่า มองไม่เห็นสิ่งที่คดข้างหน้า ย่อมไม่สามารถทำการดัดให้ตรงได้ แต่ถ้าหลับนัยน์ตาข้างหนึ่งเล็งดูที่คดด้วยนัยน์ตาข้างหนึ่ง ก็จะสามารถเล็งได้ถึงที่คดข้างหน้า ย่อมสามารถทำการดัดให้ตรง บุคคลสองคนถึงความวิวาทกัน บุคคลคนเดียวจักวิวาทกับใครท่านผู้ปรารถนาสวรรค์ จงชอบความเป็นผู้เดียวเถิด

ธรรมดาสมณะทั้งหลาย ย่อมจะไม่พาแม้น้องสาวเที่ยวไปเลยแต่เหตุไรท่านจึงพาภริยาซึ่งทรงรูปอันอุดมเที่ยวไป ภริยานี้จักทำอันตรายแก่ท่าน ท่านจงนำภริยานี้ออกไปอยู่ผู้เดียวเท่านั้น บำเพ็ญสมณธรรมให้สมควรเถิด ช่างศรกล่าวสอนพระมหาสัตว์ ด้วยประการฉะนี้

ช่างศรถวายโอวาทแด่พระมหาสัตว์อย่างนี้แล้วก็นิ่งอยู่ พระมหาสัตว์เสด็จเที่ยวบิณฑบาต ได้ภัตตาหารที่เจือปนแล้วเสด็จออกจากพระนคร ประทับนั่งเสวยในที่มีน้ำสมบูรณ์พระองค์เสร็จเสวยพระกระยาหารแล้ว บ้วนพระโอฐ ล้างบาตรนำเข้าถุงแล้วตรัสเรียกพระนางสีวลีมาตรัสว่า

ดูกรพระนางสีวลี เธอได้ยินที่นายช่างศรกล่าวแล้วหรือยัง นายช่างศรเป็นเพียงคนใช้มาติเตียนเรา ความประพฤติของเราทั้งสอง คือ อาตมาเป็นบรรพชิต เธอเป็นสตรีเดินตามกันมา ย่อมเป็นเหตุแห่งคำติเตียนดูกรนางผู้เจริญ ทางสองแพร่งนี้ อันเราทั้งสองผู้เดินทางสัญจรมาแล้วเธอจงถือเอาทางหนึ่ง อาตมาก็จะถือเอาอีกทางหนึ่ง เธออย่าเรียกอาตมาว่า เป็นพระสวามีของเธอและอาตมาก็จะไม่เรียกเธอว่า เป็นพระมเหสีของอาตมาอีก

ได้ยินว่า พระนางสีวลีเทวีนั้น แม้ถูกพระมหาสัตว์ตรัสว่า เธออย่าเรียกอาตมาว่าเป็นพระสวามีของเธอดังนี้ ก็ยังเสด็จติดตามพระมหาสัตว์อยู่นั่นเอง พระราชาก็ไม่สามารถให้พระนางสีวลีนั้นเสด็จกลับได้ แม้มหาชนก็ตามเสด็จพระองค์อยู่นั่นเอง ก็แต่ที่นั้นมีดงแห่งหนึ่งในที่ไม่ไกล ลำดับนั้นพระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นแนวป่าเขียวชอุ่ม มีพระราชประสงค์จะให้พระนางเสด็จกลับ เมื่อดำเนินไปได้ทอดพระเนตรเห็นหญ้ามุงกระต่ายในที่ใกล้ทาง พระองค์จึงทรงถอนหญ้ามุงกระต่ายนั้น ตรัสเรียกพระเทวีมาตรัสว่าแน่ะสีวลีผู้เจริญ เธอจงดูหญ้ามุงกระต่ายนี้ ก็หญ้ามุงกระต่ายนี้จะไม่อาจสืบต่อในกอนี้ได้อีก ฉันใด ความอยู่ร่วมกับเธอของอาตมา ก็ไม่อาจจะสืบต่อกันได้อีก ฉันนั้น แล้วได้ตรัสกึ่งคาถาว่า

หญ้ามุงกระต่ายที่เราถอนขึ้นแล้วนี้ ไม่อาจจะสืบต่อกันอีกได้ ฉันใด แม้เราก็ไม่สามารถจะอยู่ร่วมกันได้ ฉันนั้น เพราะฉะนั้นอาตมาจักอยู่ผู้เดียว เธอก็จงอยู่ผู้เดียวเถิด พระนางสีวลี

พระนางได้ฟังพระดำรัสของพระมหาสัตว์แล้วตรัสว่า นับแต่นี้ไปเราจะไม่ได้อยู่ร่วมกับพระมหาชนกนรินทรราชอีก พระนางไม่อาจจะทรงกลั้นโศกาดูร ก็ข้อนทรวงด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง ทรงปริเทวนาการร่ำไรอยู่เป็นอันมาก ถึงวิสัญญีภาพล้มลงที่หนทางใหญ่

พระมหาสัตว์ทรงทราบว่า พระนางถึงวิสัญญีภาพ ก็สาวพระบาทเสด็จเข้าสู่ป่า ขณะนั้น หมู่อำมาตย์มาสรงพระสรีระแห่งพระนางนั้น ช่วยกันถวายอยู่งานที่พระหัตถ์และพระบาท พระนางได้สติเสด็จลุกขึ้นตรัสถามว่า พระราชาเสด็จไปข้างไหน หมู่อำมาตย์ย้อนทูลถามว่าพระแม่เจ้าก็ไม่ทรงทราบดอกหรือ พระนางตรัสให้เที่ยวค้นหา พวกนั้นพากันวิ่งไปข้างโน้นบ้างข้างนี้บ้าง ก็ไม่พบพระราชา พระนางทรงปริเทวนาการมากมาย แล้วให้สร้างพระเจดีย์ตรงที่พระราชาประทับยืน บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น แล้วเสด็จกลับกรุงมิถิลา

ฝ่ายพระมหาสัตว์เสด็จเข้าป่าหิมวันต์ ทำอภิญญาและสมาบัติให้เกิดภายในเจ็ดวัน มิได้เสด็จมาสู่ถิ่นมนุษย์อีก ฝ่ายพระนางสีวลีเทวีเสด็จกลับแล้ว โปรดให้สร้างพระเจดีย์หลายองค์ ณ ที่ที่พระมหาสัตว์ตรัสกับช่างศร ตรัสกะนางกุมารี เสวยเนื้อที่สุนัขทิ้ง ตรัสกับมิคาชินดาบส และตรัสกับนารทดาบส ทุกตำบลแล้ว บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ทรงแวดล้อมไปด้วยเสนางคนิกร ภายหลังเสด็จไปถึงมิถิลานครทรงอภิเษกพระราชโอรส ณ พระราชอุทยานอัมพวัน ทรงส่งพระราชโอรสอันหมู่เสนาแวดล้อมแล้วเข้าพระนคร พระองค์เองทรงผนวชเป็นดาบสินีประทับอยู่ ณ พระราชอุทยานนั้น ทรงทำกสิณบริกรรมก็ได้บรรลุฌาน ไม่เสื่อมจากฌาน เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้าในที่สุดแห่งพระชนมายุ ฝ่ายพระมหาสัตว์ก็ไม่เสื่อมจากฌาน ได้เข้าถึงพรหมโลกเหมือนกัน

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ออกมหาภิเนษกรมณ์ แม้ในกาลก่อนตถาคตก็ออกมหาภิเนษกรมณ์เหมือนกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า

ท้าวสักกเทวราชในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอนุรุทธะในบัดนี้

พราหมณ์ทิศาปาโมกข์ได้มาเป็นพระกัสสปะ

นางมณีเมขลาเทพธิดาผู้รักษาสมุทร ได้มาเป็นอุบลวรรณาภิกษุณี

นารทดาบสได้มาเป็นพระสารีบุตร

มิคาชินดาบสได้มาเป็นพระโมคคัลลานะ

นางกุมาริกาได้มาเป็นนางเขมาภิกษุณี

ช่างศรได้มาเป็นพระอานนท์

ราชบริษัทที่เหลือได้มาเป็นพุทธบริษัท

สีวลีเทวีได้มาเป็นราหุลมารดา

ฑีฆาวุกุมารได้มาเป็นราหุล

พระชนกพระชนนีได้มาเป็นมหาราชศากยสกุล

ส่วนพระมหาชนกนรินทรราช คือเราผู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เอง

จบ มหาชนกชาดก

อรรถกถาชาดกพระเจ้า 547 พระชาติ

เชิญร่วมบุญ