พระพุทธศักดิ์สิทธิ์ วัดโพรงจระเข้
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สืบทอดพระพุทธศาสนา
นำทางสู่การพ้นทุกข์

ขุททกนิกายภาค ๑
ทุกนิบาต
๑.ทัฬหวรรค
สุหนุชาดก
ว่าด้วยการเปรียบเทียบม้า ๒ ม้า

 

      พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันทรงปรารภภิกษุดุร้ายสองรูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้

      ความพิสดารมีว่า ในสมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งแม้ในพระวิหารเชตวัน ได้เป็นผู้ดุร้ายหยาบคายอย่างสาหัส ในชนบทก็ได้มีภิกษุรูปหนึ่งดุร้าย อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุที่อยู่ในชนบทได้ไปพระวิหารเชตวันด้วยกรณีกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาสามเณรและภิกษุหนุ่มรู้ว่า ภิกษุชาวชนบทรูปนั้นดุร้าย จึงส่งภิกษุรูปนั้นไปยังที่อยู่ของภิกษุรูปที่อยู่สำนักพระเชตวัน ด้วยว่า จักเห็นภิกษุรูปร้ายสองรูปนั้นทะเลาะกัน ภิกษุทั้ง๒ รูปนั้น ครั้นเห็นกันและกันแล้วก็สามัคคีกัน อยู่ชื่นชมกันด้วยความรัก ได้กระทำกิจมีนวดมือ นวดเท้า และนวดหลังให้กันและกัน

      ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันในโรงธรรมว่า ดูก่อนอาวุโส ภิกษุดุร้ายสองรูป เป็นผู้ดุร้ายหยาบคายอย่างสาหัสต่อผู้อื่น แต่ทั้งสองรูปนั้นมีความสามัคคีกัน ชื่นชมกันอยู่ด้วยความรักต่อกันและกัน พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนภิกษุสองรูปนี้ก็ดุร้าย หยาบคายอย่างสาหัสแต่ครั้นเห็นกันแล้วก็สามัคคีกัน ชื่นชอบกันด้วยความรัก แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า

      ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นอำมาตย์สำเร็จราชการในทุกอย่างเป็นผู้ถวายอรรถถวายธรรมแด่พระราชา ส่วนพระราชาพระองค์นั้น ปกติทรงละโมภพระราชทรัพย์อยู่หน่อย พระองค์มีม้าโกงชื่อมหาโสณะ คราวนั้นพวกพ่อค้าม้าชาวอุตตราบนำม้ามา ๕๐๐ ตัวมาถวาย พวกอำมาตย์กราบทูลถึงเรื่องที่มีผู้นำม้ามาถวายให้พระราชาทรงทราบ ก็แต่ก่อนพระโพธิสัตว์เป็นผู้ตีราคาทรัพย์ ก็ตีราคาโดยให้ทรัพย์อันเหมาะสมกับราคา (ไม่ต่อรองลดค่าม้า) พระราชาทรงเห็นพระโพธิสัตว์ไม่ต่อราคาให้ลด จึงตรัสเรียกอำมาตย์คนอื่นมาแล้วตรัสว่า นี่แนะเจ้าเจ้าจงตีราคาม้า และเมื่อจะตีราคาจงปล่อยม้ามหาโสณะเข้าไปในระหว่างม้าเหล่านั้นก่อน แล้วให้กัดม้าทำให้เป็นแผล ในเมื่อม้าพิการ จงต่อราคาให้ลดลง

      อำมาตย์นั้นรับพระราชบัญชาได้กระทำตามพระราชประสงค์ พ่อค้าม้าทั้งหลาย ไม่พอใจจึงเล่าถึงกิริยาที่อำมาตย์นั้นทำให้พระโพธิสัตว์ทราบ พระโพธิสัตว์ถามว่า ในเมืองของพวกท่าน ไม่มีม้าโกงบ้างหรือ มีจ้ะนายม้าโกงชื่อสุหนุ ดุร้ายหยาบคายมาก ถ้าอย่างนั้นเมื่อท่านมาอีก จงนำม้านั้นมาด้วย พวกพ่อค้าม้ารับคำ เมื่อพวกเขามาอีกได้นำม้าโกงนั้นมาด้วย

      พระราชาทรงสดับว่า พวกพ่อค้าม้ามารับสั่งให้เปิดสีหบัญชรทอดพระเนตรม้าทั้งหลาย แล้วมีพระบัญชาให้ปล่อยม้ามหาโสณะ พวกพ่อค้าม้าเห็นม้ามหาโสณะมา ก็ปล่อยม้าสุหนุไป ม้าทั้งสองประจัญหน้ากันต่างก็เลียร่างกายกันด้วยความชื่นชม พระราชาจึงตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า ดูซิ ม้าโกงสองตัวนี้ดุร้ายหยาบคายแสนสาหัสต่อม้าอื่น กัดม้าอื่นให้ได้รับการเจ็บป่วย บัดนี้มันเลียร่างกายกันและกันด้วยความชื่นชม นี่มันเรื่องอะไรกัน พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ขอเดชะข้าแต่พระองค์ ม้าเหล่านี้ปกติไม่เสมอกันหามิได้ มันมีปกติเสมอกันมีธาตุเสมอกัน แล้วได้กล่าวคาถาสองคาถาว่า :

การที่ม้าโกงสุหนุกระทำความรักกับม้าโสณะนี้

ย่อมมีด้วยปกติที่ไม่เสมอกันหามิได้

ม้าโสณะเป็นเช่นใด แม้ม้าสุหนุก็เป็นเช่นนั้น

ม้าโสณะมีความประพฤติเช่นใด

ม้าสุหนุก็มีความประพฤติเช่นนั้น

ม้าทั้งสองนั้น ย่อมเสมอกันด้วยการวิ่ง

ไปด้วยความคะนองและด้วยกัดเชือกที่ล่ามอยู่เป็นนิจ

ความชั่วย่อมสมกับความชั่ว ความไม่ดีย่อมสมกับความไม่ดี

      ก็พระโพธิสัตว์ครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ถึงถวายโอวาทพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ธรรมดาพระราชาไม่ควรโลภจัดไม่ควรทำสมบัติของผู้อื่นให้เสียหาย แล้วทูลให้ตีราคาม้าให้ตามราคาที่เป็นจริง

      พวกพ่อค้าม้าได้ราคาตามที่เป็นจริง ต่างก็ร่าเริงยินดีพากันกลับไป แม้พระราชาก็ตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ แล้วเสด็จไปตามยถากรรม

      พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วทรงประชุมชาดกว่า

      ม้าสองตัวในครั้งนั้น ได้เป็นภิกษุโหดร้ายสองรูปในครั้งนี้

      พระราชาได้เป็นอานนท์

      ส่วนอำมาตย์บัณฑิตได้เป็นเราตถาคตนี้แล

จบ สุหนุชาดก

อรรถกถาชาดกพระเจ้า 547 พระชาติ

เชิญร่วมบุญ