Thai Chinese (Traditional) English French Italian Portuguese Russian
พระพุทธศักดิ์สิทธิ์ วัดโพรงจระเข้
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สืบทอดพระพุทธศาสนา
นำทางสู่การพ้นทุกข์

ขุททกนิกายภาค ๑

เอกนิบาต

๖. อาสิงสวรรค

เภริวาทชาดก

ว่าด้วยการทำเกินประมาณ

พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้ว่ายากรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.

ความย่อว่า พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า “จริงหรือ ภิกษุที่เขาว่าเธอเป็นผู้ว่ายาก” เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลรับว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นความจริงพระเจ้าข้า” ก็ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ เธอเป็นผู้ว่ายากในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน เธอก็เคยเป็นผู้ว่ายากเหมือนกัน” ดังนี้แล้ว ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :

ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลคนตีกลอง อยู่ ณ บ้าน ตำบลหนึ่ง พระโพธิสัตว์ ฟังข่าวว่าในกรุงพาราณสี มีงานเอิกเกริก ก็คิดว่า เราจักนำกลองไปตีใกล้บริเวณที่เขามีมหรสพเพื่อหาทรัพย์ แล้วจึงพาลูกชายไปในกรุงพาราณสีนั้น ตีกลองได้ทรัพย์มาจำนวนมาก ขณะที่นำทรัพย์ไปบ้านของตนต้องผ่านไปในดงโจร จึงห้ามลูกชายผู้ซึ่งตีกลองไม่หยุดหย่อนว่า

“ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าตีกลองไม่หยุดระยะ จงตีเป็นระยะ ๆ เหมือนเขาตีกลองเวลาคนใหญ่โตเดินทาง”

ลูกชาย แม้จะถูกบิดาห้ามปราม กลับพูดว่า

“ฉันจักไล่พวกโจรให้หนีไปด้วยเสียงกลองให้จงได้” แล้วก็ตีกระหน่ำไม่หยุดระยะเลย พวกโจรฟังเสียงกลองครั้งแรกทีเดียว คิดว่า จังหวะเหมือน กลองคนใหญ่โต พากันหนีไป ครั้นฟังเสียงติด ๆ กันเกินไป ก็พูดกันว่า ต้องไม่ใช่กลองคนใหญ่โต หวนกลับมาซุ่มดู เห็นคนสองคนเท่านั้น ก็รุมทุบแย่งเอาทรัพย์ไป

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า “เจ้าตีกลองกระหน่ำเป็นเสียงเดียว เป็นเหตุทำให้ทรัพย์ที่เราหามาได้โดยเหนื่อยยาก สูญหายหมด” แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า:

เมื่อจะตีก็พึงตีเถิด แต่อย่าตีเกินประมาณ

เพราะการตีเกินประมาณ เป็นการชั่วช้าของเรา

ทรัพย์ที่ได้มาตั้งร้อยเพราะการตีกลอง ได้

ฉิบหายไป เพราะเจ้าตีกลองเกินประมาณ ดังนี้

พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า

ลูกชายในครั้งนั้น มาเป็นภิกษุว่ายากในบัดนี้

ส่วนบิดา ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ เภริวาทชาดก

อรรถกถาชาดกพระเจ้า 547 พระชาติ

เชิญร่วมบุญ