พระไตรปิฎก เล่มที่ ๘ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๘
ปริวาร
???
เสทโมจนคาถา
[๑๒๙๖] บุคคลไม่มีสังวาสกับภิกษุและภิกษุณี การสมโภคบางอย่าง อันภิกษุและภิกษุณีย่อมไม่ได้ในบุคคลนั้น ไม่ต้องอาบัติ เพราะไม่อยู่ปราศ ปัญหาข้อนี้ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๒๙๗] ครุภัณฑ์ ๕ อย่าง อันพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ตรัสว่า ไม่เป็นอาบัติ แก่ภิกษุผู้จำหน่าย ผู้ใช้สอย ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๒๙๘] ข้าพเจ้าไม่กล่าวถึง บุคคล ๑๐ จำพวก เว้นบุคคล ๑๑ จำพวกเสีย ภิกษุไหว้ผู้แก่กว่าต้องอาบัติ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๒๙๙] ภิกษุไม่ใช่ผู้ถูกยกวัตร ไม่ใช่ผู้อยู่ปริวาส ไม่ใช่ผู้ทำลายสงฆ์ และไม่ใช่ผู้หลีกไปเข้ารีด ตั้งอยู่ในภูมิของภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกัน ไฉนจึงไม่ทั่วไปแก่สิกขา ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๐๐] บุคคลเข้าถึงธรรม ไต่ถามกุศลที่ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่ผู้เป็นอยู่ ไม่ใช่ผู้ตาย ไม่ใช่ผู้นิพพาน ท่านผู้รู้ทั้งหลายเรียกบุคคลนั้นว่าอย่างไร? ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๐๑] ไม่พูดถึงอวัยวะเหนือรากขวัญขึ้นไป เว้นอวัยวะใต้สะดือลงมา ภิกษุพึงต้องอาบัติปาราชิกเพราะเมถุนธรรมเป็นปัจจัยได้อย่างไร? ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๐๒] ภิกษุทำกุฎีด้วยอาการขอเอาเอง ไม่ได้ให้สงฆ์แสดงพื้นที่ เกินประมาณ มีผู้จองไว้หาชานรอบมิได้ ไม่ต้องอาบัติ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๐๓] ภิกษุทำกุฎีด้วยอาการขอเอาเอง ให้สงฆ์แสดงพื้นที่แล้วได้ประมาณ ไม่มีผู้จอง มีชานรอบ แต่ต้องอาบัติ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๐๔] ไม่ประพฤติประโยคอะไรทางกาย และไม่พูดกะคนอื่นๆ ด้วยวาจา แต่ต้องอาบัติหนัก ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความขาด ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๐๕] สัตบุรุษ ไม่ทำความชั่วอะไรทางกายและทางวาจา แม้ทางใจผู้นั้นถูกสงฆ์นาสนะแล้วชื่อว่าถูกนาสนะด้วยดี เพราะเหตุไร? ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๐๖] ภิกษุไม่เจรจากับมนุษย์ไรๆ ด้วยวาจา และไม่กล่าวถ้อยคำกะผู้อื่น แต่ต้องอาบัติทางวาจา มิใช่ทางกาย ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๐๗] สิกขาบท อันพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐพรรณนาไว้แล้ว สังฆาทิเสส ๔ สิกขาบท ภิกษุณีต้องทั้งหมด ด้วยประโยคเดียวกัน ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๐๘] ภิกษุณี ๒ รูป อุปสมบทแต่สงฆ์ฝ่ายเดียว ภิกษุรับจีวรแต่มือของภิกษุณี ๒ รูป ต้องอาบัติต่างกัน ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๐๙] ภิกษุ ๔ รูปชวนกันไปลักครุภัณฑ์ ๓ รูป เป็นปาราชิก รูป ๑ ไม่เป็นปาราชิก ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๑๐] สตรีอยู่ข้างใน ภิกษุอยู่ข้างนอก ช่องไม่มีในเรือนนั้น ภิกษุจะพึงต้องอาบัติปาราชิก เพราะเมถุนธรรมเป็นปัจจัยได้อย่างไร? ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้วฯ
[๑๓๑๑] ภิกษุรับประเคนน้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และเนยใสด้วยตนเองแล้วเก็บไว้ เมื่อยังไม่ล่วงสัปดาห์ เมื่อปัจจัยมีอยู่ฉัน ต้องอาบัติ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๑๒] อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ อาบัติสุทธิกปาจิตตีย์ ภิกษุต้องพร้อมกัน ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๑๓] ภิกษุ ๒๐ รูป มาประชุมกันสำคัญว่าพร้อมเพรียงจึงทำกรรม ภิกษุอยู่ในที่ ๑๒ โยชน์ พึงยังกรรมนั้นให้เสียได้เพราะปัจจัยคือเป็นวรรค ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๑๔] ภิกษุต้องครุกาบัติล้วน ๖๔ ที่ทำคืนได้ ด้วยอาการเพียงย่างเท้า และด้วยกล่าววาจาคราวเดียวกัน ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๑๕] ภิกษุนุ่งผ้าอันตรวาสก ห่มผ้าสังฆาฏิ ๒ ชั้น ผ้าทั้งหมดนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๑๖] ญัตติก็ไม่ใช่ กรรมวาจาก็ไม่เชิง และพระชินเจ้า ก็ไม่ได้ตรัสว่า เอหิภิกขุแม้สรณคมน์ก็ไม่มีแก่เธอ แต่อุปสัมปทาของเธอไม่เสีย ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๑๗] บุคคลผู้โฉดเขลา ฆ่าสตรีซึ่งมิใช่มารดา และฆ่าบุรุษซึ่งมิใช่บิดา ฆ่าบุคคลผู้มิใช่อริยะ แต่ต้องอนันตริยกรรมเพราะเหตุนั้น ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๑๘] บุคคลผู้โฉดเขลา ฆ่าสตรีผู้เป็นมารดา ฆ่าบุรุษผู้เป็นบิดา ครั้นฆ่าบิดามารดาแล้ว แต่ไม่ต้องอนันตริยกรรมเพราะโทษนั้น ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๑๙] ภิกษุไม่โจท ไม่สอบสวน แล้วทำกรรมแก่บุคคลผู้อยู่ลับหลัง และกรรมที่ทำแล้วเป็นอันทำชอบแล้ว ทั้งการกสงฆ์ไม่ต้องอาบัติ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๒๐] ภิกษุโจท สอบสวนแล้ว ทำกรรมแก่บุคคลผู้อยู่ต่อหน้า และกรรมที่ทำแล้วไม่เป็นอันทำทั้งการกสงฆ์ก็ต้องอาบัติ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๒๑] ภิกษุตัด ต้องอาบัติก็มี ไม่ต้องอาบัติก็มี ภิกษุปิดต้องอาบัติก็มี ไม่ต้องอาบัติก็มีปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๒๒] ภิกษุพูดจริง ต้องอาบัติหนัก พูดเท็จต้องอาบัติเบา พูดเท็จต้องอาบัติหนัก และพูดจริงต้องอาบัติเบา ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๒๓] ภิกษุบริโภคจีวรที่อธิษฐานแล้ว ย้อมด้วยน้ำย้อมแล้ว แม้กัปปะก็ทำแล้วยังต้องอาบัติปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๒๔] เมื่อพระอาทิตย์อัสดงแล้ว ภิกษุฉันเนื้อ เธอไม่ใช่ผู้วิกลจริต ไม่ใช่ผู้มีจิตฟุ้งซ่าน
และไม่ใช่ผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา แต่เธอไม่ต้องอาบัติ ก็ธรรมข้อนั้น พระสุคตทรงแสดงแล้ว ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๒๕] เธอไม่ใช่ผู้มีจิตกำหนัด และไม่ใช่ผู้มีไถยจิต และแม้ผู้อื่นเธอก็ไม่ได้คิดจะฆ่า ความขาดย่อมมีแก่เธอผู้ให้จับสลาก เป็นอาบัติถุลลัจจัยแก่ภิกษุผู้จับ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๒๖] ไม่ใช่เสนาสนะป่าที่รู้กันว่ามีความรังเกียจ และไม่ใช่สงฆ์ให้สมมติ ทั้งกฐินเธอไม่ได้กราน เธอเก็บจีวรไว้ ณ ที่นั้นเอง แล้วไปตั้งกึ่งโยชน์เมื่ออรุณขึ้น เธอนั่นแหละไม่ต้องอาบัติ
ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๒๗] อาบัติทั้งมวลที่เป็นไปทางกาย มิใช่ทางวาจา ต่างวัตถุกัน ภิกษุต้องในขณะเดียวกัน ไม่ก่อน ไม่หลัง ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๒๘] อาบัติทั้งมวลที่เป็นไปทางวาจา มิใช่ทางกายต่างวัตถุกัน ภิกษุต้องในขณะเดียวกัน ไม่ก่อน ไม่หลัง ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๒๙] ไม่เสพเมถุนนั้นในสตรี ๓ จำพวก บุรุษ ๓ จำพวก คนไม่ประเสริฐ ๓ จำพวก และบัณเทาะก์ ๓ จำพวก และไม่ประพฤติเมถุนในอวัยวะที่ปรากฏ แต่ความขาดย่อมมีเพราะเมถุนธรรมเป็นปัจจัย ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๓๐] ขอจีวรกะมารดา และไม่ได้น้อมลาภไปเพื่อสงฆ์ เพราะเหตุไร ภิกษุนั้นจึงต้องอาบัติ แต่ไม่ต้องอาบัติเพราะบุคคลผู้เป็นญาติ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๓๑] ผู้โกรธ ย่อมให้สงฆ์ยินดี ผู้โกรธ ย่อมถูกสงฆ์ติเตียน ก็ธรรมที่เป็นเหตุให้สงฆ์สรรเสริญผู้โกรธนั้น ชื่ออะไร? ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๓๒] ผู้แช่มชื่น ย่อมให้สงฆ์ยินดี ผู้แช่มชื่น ย่อมถูกสงฆ์ติเตียน ก็ธรรมที่เป็นเหตุให้สงฆ์ติเตียนผู้แช่มชื่นนั้นชื่ออะไร? ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๓๓] ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ และทุกกฏ ในขณะเดียวกัน ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๓๔] ทั้งสองมีอายุครบ ๒๐ ปี ทั้งสองมีอุปัชฌาย์คนเดียวกัน มีอาจารย์คนเดียวกัน มีกรรมวาจาอันเดียวกัน รูปหนึ่งเป็นอุปสัมบัน รูปหนึ่งเป็นอนุปสัมบัน ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๓๕] ผ้าที่ไม่ได้ทำกัปปะ และไม่ได้ย้อมด้วยน้ำย้อม ภิกษุปรารถนา พึงแสวงหามานุ่งห่มและเธอไม่ต้องอาบัติ ก็ธรรมอันนั้น พระสุคตทรงแสดงแล้ว ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๓๖] ภิกษุณีไม่ให้ ไม่รับ การรับไม่มีด้วยเหตุนั้น แต่ต้องอาบัติหนัก มิใช่อาบัติเบาและการต้องนั้น เพราะการบริโภคเป็นปัจจัย ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๓๗] ภิกษุณีไม่ให้ ไม่รับ การรับไม่มีด้วยเหตุนั้น แต่ต้องอาบัติเบา ไม่ใช่อาบัติหนักและการต้องนั้น เพราะการบริโภคเป็นปัจจัย ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
[๑๓๓๘] ภิกษุณีต้องอาบัติหนักมีส่วนเหลือ ปกปิดไว้ เพราะอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ไม่ใช่ภิกษุณีก็ไม่ต้องโทษ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
เสทโมจนคาถา จบ.
--------------------------
หัวข้อประจำเรื่อง
[๑๓๓๙] ไม่มีสังวาส ไม่จำหน่าย บุคคล ๑๐ ไม่ใช่ผู้ถูกยกวัตร เข้าถึงธรรม อวัยวะเหนือรากขวัญ ต่อนั้น ทำกุฎีด้วยอาการขอเอาเอง ๒ สิกขาบท ไม่ประพฤติประโยคทางกาย แต่ต้องอาบัติหนัก ไม่ทำความชั่วทางกายแต่ถูกสงฆ์นาสนะชอบแล้ว ไม่เจรจา สิกขาบทชน ๒ คน และชน ๔ คน สตรี น้ำมัน นิสสัคคีย์ ภิกษุ ย่างเท้าเดิน นุ่งผ้า ไม่ใช่ญัตติฆ่าสตรีมิใช่มารดา ฆ่าบุรุษมิใช่บิดา ไม่โจท โจท ตัด พูดจริง ผ้าที่อธิษฐาน พระอาทิตย์อัสดงแล้ว ไม่กำหนัด มิใช่เสนาสนะป่า อาบัติทางกาย ทางวาจา สตรี ๓ พวก มารดาโกรธ ให้ยินดี แช่มชื่น ต้องสังฆาทิเสส สองคน ผ้าไม่ได้ทำกัปปะ ไม่ให้ต้องอาบัติหนัก คาถาที่คิดจนเหงื่อไหล เป็นปัญหาที่ท่านผู้รู้ให้แจ่มแจ้งแล้วแล.