พระไตรปิฎก เล่มที่ ๖ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๖
จุลวรรค ภาค ๑
???
สงฆ์ให้ปักขปริวาส
[๔๑๕] สมัยต่อมา ท่านพระอุทายี ต้องอาบัติตัวหนึ่ง ชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ ปิดบังไว้ ๑ ปักษ์ เธอแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลาย ผมต้องอาบัติตัวหนึ่ง ชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ ปิดบังไว้ ๑ ปักษ์ ผมจะพึงปฏิบัติอย่างไร ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล สงฆ์จงให้ปริวาส ๑ ปักษ์ เพื่ออาบัติตัวหนึ่ง ชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ ปิดบังไว้ ๑ ปักษ์ แก่ภิกษุอุทายี ฯ
วิธีให้ปักขปริวาส
[๔๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงให้อย่างนี้ ภิกษุอุทายีนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ไหว้เท้าภิกษุผู้แก่กว่า นั่งกระหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำขอ ว่าดังนี้:-
คำขอปักขปริวาส
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าต้องอาบัติตัวหนึ่ง ชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ ปิดบังไว้ ๑ ปักษ์ ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นขอปริวาส ๑ ปักษ์เพื่ออาบัติตัวหนึ่ง ชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ ปิดบังไว้ ๑ ปักษ์ กะสงฆ์
พึงขอแม้ครั้งที่สอง พึงขอแม้ครั้งที่สาม ฯ
[๔๑๗] ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาให้ปักขปริวาส
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุอุทายีนี้ ต้องอาบัติตัวหนึ่ง ชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ ปิดบังไว้ ๑ ปักษ์ เธอขอปริวาส ๑ ปักษ์ เพื่ออาบัติตัวหนึ่ง ชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ ปิดบังไว้ ๑ ปักษ์กะสงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ปริวาส ๑ ปักษ์เพื่ออาบัติตัวหนึ่ง ชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ ปิดบังไว้ ๑ ปักษ์ แก่ภิกษุอุทายี นี้เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุอุทายีนี้ ต้องอาบัติตัวหนึ่ง ชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ ปิดบังไว้ ๑ ปักษ์ เธอขอปริวาส ๑ ปักษ์ เพื่ออาบัติตัวหนึ่ง ชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ ปิดบังไว้ ๑ ปักษ์กะสงฆ์ สงฆ์ให้ปริวาส ๑ ปักษ์ เพื่ออาบัติตัวหนึ่ง ชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ ปิดบังไว้ ๑ ปักษ์ แก่ภิกษุอุทายี การให้ปริวาส ๑ ปักษ์ เพื่ออาบัติตัวหนึ่ง ชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ ปิดบังไว้ ๑ ปักษ์ แก่ภิกษุอุทายี ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ แม้ครั้งที่สอง ...
ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ แม้ครั้งที่สาม ...
ปริวาส ๑ ปักษ์ เพื่ออาบัติตัวหนึ่ง ชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ ปิดบังไว้ ๑ ปักษ์ สงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุอุทายี ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้ ฯ