พระพุทธศักดิ์สิทธิ์ วัดโพรงจระเข้
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สืบทอดพระพุทธศาสนา
นำทางสู่การพ้นทุกข์

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๖ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๖
จุลวรรค ภาค ๑

???


เรื่องมานัตตารหภิกษุ

      [๓๔๔] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายผู้ควรมานัต ยินดีการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม การนำอาสนะมาให้ การนำที่นอนมาให้ การล้างเท้า การตั้งตั่งรองเท้า การตั้งกระเบื้องเช็ดเท้า การรับบาตรจีวร การถูหลังให้เมื่ออาบน้ำ ของปกตัตตะภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุทั้งหลายผู้ควรมานัต จึงได้ยินดีการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม การนำอาสนะมาให้ การนำที่นอนมาให้ การล้างเท้า การตั้งตั่งรองเท้า การตั้งกระเบื้องเช็ดเท้า การรับบาตรจีวร การถูหลังให้เมื่ออาบน้ำ ของปกตัตตะภิกษุทั้งหลายเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

ทรงสอบถาม

      พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุทั้งหลายผู้ควรมานัต ยินดีการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม การนำอาสนะมาให้ การนำที่นอนมาให้ การล้างเท้า การตั้งตั่งรองเท้า การตั้งกระเบื้องเช็ดเท้า การรับบาตรจีวร การถูหลังให้เมื่ออาบน้ำ ของปกตัตตะภิกษุทั้งหลาย จริงหรือ
      ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

ทรงติเตียน

      พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉน ภิกษุทั้งหลายผู้ควรมานัต จึงได้ยินการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม การนำอาสนะมาให้ การนำที่นอนมาให้ การล้างเท้า การตั้งตั่งรองเท้า การตั้งกระเบื้องเช็ดเท้า การรับบาตรจีวร การถูหลังให้เมื่ออาบน้ำ ของปกตัตตะ ภิกษุทั้งหลายเล่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของภิกษุผู้ควรมานัตนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ควรมานัต ไม่พึงยินดีการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม การนำอาสนะมาให้ การนำที่นอนมาให้ การล้างเท้า การตั้งตั่งรองเท้า การตั้งกระเบื้องเช็ดเท้า การรับบาตรจีวร การถูหลังให้เมื่ออาบน้ำ ของปกตัตตะภิกษุทั้งหลาย รูปใดยินดี ต้องอาบัติทุกกฏ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม การนำอาสนะมาให้ การนำที่นอนมาให้ การล้างเท้า การตั้งตั่งรองเท้า การตั้งกระเบื้องเช็ดเท้า การรับบาตรจีวร การถูหลังให้เมื่ออาบน้ำ ของภิกษุทั้งหลายผู้ควรมานัตด้วยกัน ตามลำดับผู้แก่พรรษา
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกิจ ๕ อย่าง คือ อุโบสถ ปวารณา ผ้าอาบน้ำฝน การสละภัตร และการรับภัตร แก่ภิกษุทั้งหลายผู้ควรมานัตด้วยกันตามลำดับผู้แก่พรรษา
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจะบัญญัติวัตรแก่ภิกษุผู้ควรมานัต โดยประการที่ภิกษุผู้ควรมานัต ต้องประพฤติทุกรูป ฯ

มานัตตารหวัตร
หมวดที่ ๑

      [๓๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ควรมานัต พึงประพฤติชอบ
      วิธีประพฤติชอบในวัตรนั้น ดังนี้:-

อันภิกษุผู้ควรมานัต ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสัย
ไม่พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก
ไม่พึงรับสมมติเป็นผู้สั่งสอนภิกษุณี
แม้ได้รับสมมติแล้ว ก็ไม่พึงสั่งสอนภิกษุณี
ตนเป็นผู้ควรมานัตเพราะอาบัติใด ไม่พึงต้องอาบัตินั้น
ไม่พึงต้องอาบัติอื่นอันเช่นกัน
ไม่พึงต้องอาบัติอันเลวทรามกว่านั้น
ไม่พึงติกรรม
ไม่พึงติภิกษุทั้งหลายผู้ทำกรรม
ไม่พึงห้ามอุโบสถแก่ปกตัตตะภิกษุ
ไม่พึงห้ามปวารณาแก่ปกตัตตะภิกษุ
ไม่พึงทำการไต่สวน
ไม่พึงเริ่มอนุวาทาธิกรณ์
ไม่พึงยังภิกษุอื่นให้ทำโอกาส
ไม่พึงโจทภิกษุอื่น
ไม่พึงให้ภิกษุอื่นให้การ
ไม่พึงช่วยภิกษุกับภิกษุให้สู้อธิกรณ์กัน ฯ

หมวดที่ ๒

      [๓๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ควรมานัต ไม่พึงไปข้างหน้าแห่งปกตัตตะภิกษุ

ไม่พึงนั่งข้างหน้าแห่งปกตัตตะภิกษุ
พึงพอใจด้วยอาสนะสุดท้าย ที่นอนสุดท้าย วิหารสุดท้ายของสงฆ์ ที่สงฆ์จะพึงให้เธอ
ไม่พึงมีปกตัตตะภิกษุเป็นสมณะนำหน้า หรือตามหลังเข้าไปสู่สกุล
ไม่พึงสมาทานอารัญญิกธุดงค์
ไม่พึงสมาทานปิณฑปาติกธุดงค์ และ
ไม่พึงให้เขานำบิณฑบาตมาส่ง เพราะปัจจัยนั้น ด้วยคิดว่าคนทั้งหลาย อย่ารู้เรา ฯ

หมวดที่ ๓

      [๓๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ควรมานัต เป็นอาคันตุกะไป พึงบอก มีอาคันตุกะมา ก็พึงบอก พึงบอกในอุโบสถ พึงบอกในปวารณา พึงบอกทุกวัน ถ้าอาพาธ พึงสั่งทูตให้บอก ฯ

หมวดที่ ๔

      [๓๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ควรมานัต ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่หาภิกษุมิได้

ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่ถิ่นมิใช่อาวาสที่หาภิกษุมิได้
ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่หาภิกษุมิได้
ไม่พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่หาภิกษุมิได้
ไม่พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่ถิ่นมิใช่อาวาสที่หาภิกษุมิได้
ไม่พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่หาภิกษุมิได้
ไม่พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่ถิ่นมิใช่อาวาสที่หาภิกษุมิได้
ไม่พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาส หรือถิ่นมิใช่อาวาสที่หาภิกษุมิได้
ไม่พึงออกจากอาวาส หรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่หาภิกษุมิได้
ไม่พึงออกจากอาวาส หรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่ถิ่นมิใช่อาวาสที่หาภิกษุมิได้
ไม่พึงออกจากอาวาส หรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสหรือถิ่น
มิใช่อาวาสที่หาภิกษุมิได้ ทั้งนี้ เว้นแต่ไปกับปกตัตตะภิกษุ เว้นแต่มีอันตราย ฯ

หมวดที่ ๕

      [๓๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ควรมานัต ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นนานาสังวาส

ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่ถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นนานาสังวาส
ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาส หรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นนานาสังวาส
ไม่พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นนานาสังวาส
ไม่พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่ถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นนานาสังวาส
ไม่พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาส หรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นนานาสังวาส
ไม่พึงออกจากอาวาส หรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นนานาสังวาส
ไม่พึงออกจากอาวาส หรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่ถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นนานาสังวาส
ไม่พึงออกจากอาวาส หรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นนานาสังวาส ทั้งนี้ เว้นแต่ไปกับปกตัตตะภิกษุ เว้นแต่มีอันตราย ฯ

หมวดที่ ๖

      [๓๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ควรมานัต พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่มีภิกษุ เป็นสมานสังวาส

พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่ถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ เป็นสมานสังวาส
พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาส หรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ เป็นสมานสังวาส
พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่มีภิกษุ เป็นสมานสังวาส
พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่ถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ เป็นสมานสังวาส
พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาส หรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ เป็นสมานสังวาส
พึงออกจากอาวาส หรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่มีภิกษุ เป็นสมานสังวาส
พึงออกจากอาวาส หรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่ถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุเป็นสมานสังวาส
พึงออกจากอาวาส หรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ เป็นสมานสังวาส ทั้งนี้ ที่รู้ว่าอาจจะไปถึงในวันนี้เทียว ฯ

หมวดที่ ๗

      [๓๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ควรมานัต ไม่พึงอยู่ในที่มุงอันเดียวกันในอาวาส กับปกตัตตะภิกษุ

ไม่พึงอยู่ในที่มุงอันเดียวกันในถิ่นมิใช่อาวาส
ไม่พึงอยู่ในที่มุงอันเดียวกันในอาวาสก็ดี ในถิ่นมิใช่อาวาสก็ดี กับปกตัตตะภิกษุ
เห็นปกตัตตะภิกษุแล้วพึงลุกจากอาสนะ
พึงนิมนต์ปกตัตตะภิกษุให้นั่ง
ไม่พึงนั่งในอาสนะเดียวกันกับปกตัตตะภิกษุ
เมื่อปกตัตตะภิกษุนั่ง ณ อาสนะต่ำ ไม่พึงนั่ง ณ อาสนะสูง
เมื่อปกตัตตะภิกษุนั่ง ณ พื้นดิน ไม่พึงนั่ง ณ อาสนะ
ไม่พึงจงกรมในที่จงกรมเดียวกันกับปกตัตตะภิกษุ
เมื่อปกตัตตะภิกษุจงกรมอยู่ในที่จงกรมต่ำ ไม่พึงจงกรมในที่จงกรมสูง
เมื่อปกตัตตะภิกษุจงกรม ณ พื้นดิน ไม่พึงจงกรมในที่จงกรม ฯ

หมวดที่ ๘

      [๓๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ควรมานัต ไม่พึงอยู่ในที่มุงเดียวกันในอาวาส กับภิกษุผู้อยู่ปริวาส

ไม่พึงอยู่ในที่มุงเดียวกันในถิ่นมิใช่อาวาส
ไม่พึงอยู่ในที่มุงเดียวกันในอาวาสก็ดี ในถิ่นมิใช่อาวาสก็ดี
ไม่พึงนั่ง ณ อาสนะเดียวกัน กับภิกษุผู้อยู่ปริวาส
... กับภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม
... กับภิกษุผู้ควรมานัตที่แก่กว่า
... กับภิกษุผู้ประพฤติมานัต
... กับภิกษุผู้ควรอัพภาน
เมื่อเธอนั่ง ณ อาสนะต่ำ ไม่พึงนั่ง ณ อาสนะสูง
เมื่อเธอนั่ง ณ พื้นดิน ไม่พึงนั่ง ณ อาสนะ
ไม่พึงจงกรมในที่จงกรมเดียวกัน
เมื่อเธอจงกรมอยู่ในที่จงกรมต่ำ ไม่พึงจงกรมในที่จงกรมสูง
เมื่อเธอจงกรมอยู่ ณ พื้นดิน ไม่พึงจงกรมในที่จงกรม ฯ

      [๓๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าสงฆ์มีภิกษุผู้ควรมานัตเป็นที่ ๔ พึงให้ปริวาส พึงชักเข้าหาอาบัติเดิม พึงให้มานัต สงฆ์ ๒๐ รูปทั้งภิกษุผู้ควรมานัตนั้นพึงอัพภาน การกระทำดังนั้น ใช้ไม่ได้และไม่ควรทำ ฯ

มานัตตารหวัตร จบ
-------------------------


 

 

เชิญร่วมบุญ