พระพุทธศักดิ์สิทธิ์ วัดโพรงจระเข้
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สืบทอดพระพุทธศาสนา
นำทางสู่การพ้นทุกข์

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔
มหาวรรค ภาค ๑

???


พระอุปัชฌายะมีการศึกษาน้อยกว่าสัทธิวิหาริก

      [๙๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายคิดว่าเรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว ดังนี้ แต่ยังเป็นผู้เขลา ไม่เฉียบแหลม ย่อมให้อุปสมบท. ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้เขลา สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาด ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้ไม่เฉียบแหลม สัทธิวิหาริกเป็นผู้เฉียบแหลม ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีสุตะมาก ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีปัญญา. แม้ภิกษุรูปหนึ่งเคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เมื่อพระอุปัชฌายะว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรม ได้ยกวาทะขึ้นโต้เถียงแก่พระอุปัชฌายะ แล้วหลีกไปสู่ลัทธิเดียรถีย์นั้นตามเดิม.
      บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุทั้งหลายจึงได้อ้างว่า เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว ดังนี้ แต่ยังเป็นผู้เขลา ไม่เฉียบแหลม ให้อุปสมบท ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้เขลา สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาด ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้ไม่เฉียบแหลม สัทธิวิหาริกเป็นผู้เฉียบแหลม ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีสุตะมาก ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีปัญญาเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

ทรงสอบถาม

      พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุทั้งหลายอ้างว่า เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว ดังนี้ แต่ยังเป็นผู้เขลา ไม่เฉียบแหลมให้อุปสมบท ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้เขลา สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาด ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้ไม่เฉียบแหลม สัทธิวิหาริกเป็นผู้เฉียบแหลม ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีสุตะมาก ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีปัญญา จริงหรือ?
      ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.

ทรงติเตียน

      พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงได้อ้างว่า เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว ดังนี้ แต่ยังเป็นผู้เขลา ไม่เฉียบแหลมให้อุปสมบท ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้เขลา สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาด ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้ไม่เฉียบแหลม สัทธิวิหาริกเป็นผู้เฉียบแหลม ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีสุตะมาก ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีปัญญาเล่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของพวกโมฆบุรุษนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เขลา ไม่เฉียบแหลม ไม่พึงให้อุปสมบท รูปใด ให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ผู้ฉลาดผู้สามารถ มีพรรษาได้ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐ ให้อุปสมบท.

ทรงอนุญาตอาจารย์

      [๙๒] ก็โดยสมัยนั้นแล เมื่อพระอุปัชฌายะทั้งหลายหลีกไปเสียก็ดี สึกเสียก็ดี ถึงมรณภาพก็ดี ไปเข้ารีตเดียรถีย์เสียก็ดี ภิกษุทั้งหลายไม่มีอาจารย์ ไม่มีใครตักเตือน ไม่มีใครพร่ำสอน ย่อมนุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมรรยาทไม่สมควรเที่ยวบิณฑบาต. เมื่อประชาชนกำลังบริโภค ย่อมน้อมบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไปข้างบนของควรบริโภคบ้าง ข้างบนของควรเคี้ยวบ้าง ข้างบนของควรลิ้มบ้าง ข้างบนของควรดื่มบ้าง ขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน แม้ในโรงอาหารก็เป็นผู้มีเสียงอื้ออึง มีเสียงดังอยู่.
      ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้นุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมรรยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาตเล่า เมื่อประชาชนกำลังบริโภคได้น้อมบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไป ข้างบนของควรบริโภคบ้าง ข้างบนของควรเคี้ยวบ้าง ข้างบนของควรลิ้มบ้าง ข้างบนของควรดื่มบ้าง ขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน แม้ในโรงอาหาร ก็เป็นผู้มีเสียงอื้ออึง มีเสียงดังอยู่ เหมือนพวกพราหมณ์ในสถานที่เลี้ยงพราหมณ์ ฉะนั้น.
      ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุทั้งหลาย จึงได้นุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมรรยาท ไม่สมควร ... แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

ทรงสอบถาม

      ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ... ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุทั้งหลายนุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมรรยาทไม่สมควร ... จริงหรือ?
      ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.

ทรงติเตียน

      พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียน ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอาจารย์. อาจารย์จักตั้งจิตสนิทสนมในอันเตวาสิกฉันบุตร อันเตวาสิกจักตั้งจิตสนิทสนมในอาจารย์ฉันบิดา เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจารย์และอันเตวาสิกนั้น ต่างจักมีความเคารพ ยำเกรง ประพฤติกลมเกลียวกันอยู่ จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อาศัยภิกษุมีพรรษา ๑๐ อยู่ อนุญาตให้ภิกษุมีพรรษาได้ ๑๐ ให้นิสสัย.

วิธีถือนิสสัย

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลอันเตวาสิกพึงถืออาจารย์อย่างนี้
      อันเตวาสิกนั้นพึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ไหว้เท้า นั่งกระหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ ๓ หน
      ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักอาศัยท่านอยู่, ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักอาศัยท่านอยู่, ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักอาศัยท่านอยู่
      อาจารย์รับว่า ดีละ เบาใจละ ชอบแก่อุบายละ สมควรละ หรือรับว่าจงยังความปฏิบัติให้ถึงพร้อมด้วยอาการอันน่าเลื่อมใสเถิด ดังนี้ก็ได้ รับด้วยกาย รับด้วยวาจา รับด้วยทั้งกายและวาจาก็ได้ เป็นอันว่าอันเตวาสิกถืออาจารย์แล้ว, ไม่รับด้วยกาย ไม่รับด้วยวาจา ไม่รับด้วยทั้งกายและวาจา ไม่เป็นอันว่าอันเตวาสิกถืออาจารย์แล้ว.


 

เชิญร่วมบุญ