พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
???
๓. สัปปุริสสูตร (๑๑๓)
[๑๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัปปุริสธรรม และอสัปปุริสธรรมแก่พวกเธอ เธอทั้งหลายจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ
[๑๗๙] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัปปุริสธรรมเป็นอย่างไร คืออสัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้ออกจากสกุลสูงบวชแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ออกจากสกุลสูงบวชแล้ว ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ มิใช่เป็นผู้ออกจากสกุลสูงบวชแล้ว อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้มีสกุลสูงนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้คือ อสัปปุริสธรรม ฯ
ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้มีสกุลสูงเลย ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้ออกจากสกุลสูงบวชแล้ว แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญ เธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้มีสกุลสูงนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้คือ สัปปุริสธรรม ฯ
[๑๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้ออกจากสกุลใหญ่ ออกจากสกุลมีโภคะมาก ออกจากสกุลมีโภคะยิ่ง บวชแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ออกจากสกุลใหญ่...ออกจากสกุลมีโภคะมาก... ออกจากสกุลมีโภคะยิ่ง บวชแล้ว ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ออกจากสกุลใหญ่ ออกจากสกุลมีโภคะมาก ออกจากสกุลมีโภคะยิ่ง บวชแล้ว อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้มีสกุลใหญ่ มีโภคะมาก มีโภคะยิ่งนั้นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ
ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้มีสกุลใหญ่ มีโภคะมาก มีโภคะยิ่งเลย ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้ออกจากสกุลใหญ่ ออกจากสกุลมีโภคะมาก ออกจากสกุลมีโภคะยิ่ง บวชแล้ว แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญ เธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้มีสกุลใหญ่ มีโภคะมาก มีโภคะยิ่งนั้นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ
[๑๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้ปรากฏ มียศ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ปรากฏ มียศ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ เป็นผู้ไม่ปรากฏ มีศักดิ์น้อย อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้ปรากฏนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ
ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้ปรากฏ ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้ปรากฏ มียศ แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้น (ทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น) ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้ปรากฏนั้นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ
[๑๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะการได้นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ
ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะการได้ ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่ เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะการได้นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ
[๑๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นพหูสูต ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นพหูสูต ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นพหูสูต อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นพหูสูตนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ
ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นพหูสูต ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นพหูสูต แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้น ทำการปฏิบัติ แต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นพหูสูตนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ
[๑๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นพระวินัยธร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นพระวินัยธร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นพระวินัยธร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นพระวินัยธรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ
ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นพระวินัยธร ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นพระวินัยธร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นพระวินัยธรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ
[๑๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นพระธรรมกถึก ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นพระธรรมกถึก อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นพระธรรมกถึกนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ
ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นพระธรรมกถึก ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นพระธรรมกถึก แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นพระธรรมกถึกนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ
[๑๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ
ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ
[๑๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คืออสัปปุริสธรรม ฯ
ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุล เป็นวัตร ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ
[๑๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตนข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ
ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาต เป็นวัตร ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็ คือ สัปปุริสธรรม ฯ
[๑๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้อยู่โคนไม้เป็นวัตร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้อยู่โคนไม้เป็นวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้อยู่โคนไม้เป็นวัตร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้อยู่โคนไม้เป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ
ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้อยู่โคนไม้เป็นวัตร ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้อยู่โคนไม้เป็นวัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญ เธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้อยู่โคนไม้เป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ
[๑๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้อยู่ป่าช้า เป็นวัตร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้อยู่ป่าช้าเป็นวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ไม่ใช่เป็นผู้อยู่ป่าช้าเป็นวัตร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าช้าเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ
ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าช้าเป็นวัตร ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้อยู่ป่าช้าเป็นวัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าช้าเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้อยู่กลางแจ้งเป็นวัตร...เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตร...เป็นผู้ถือการนั่งตามลำดับอาสนะเป็นวัตร ... เป็นผู้ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ
ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ
[๑๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ได้ปฐมฌานสมาบัติ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ได้ปฐมฌานสมาบัติ อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น ด้วยปฐมฌานสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ
ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า แม้ปฐมฌานสมาบัติ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ไม่มีตัณหาแล้ว เพราะคนทั้งหลายสำคัญกันด้วยเหตุใดๆ เหตุนั้นๆ ย่อมเป็นอย่างอื่นจากที่สำคัญนั้น สัตบุรุษนั้นทำความไม่มีตัณหาแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยปฐมฌานสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลายแม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ
[๑๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่...เข้าตติยฌาน...เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อยู่ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ได้จตุตถฌานสมาบัติ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ได้จตุตถฌานสมาบัติ อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น ด้วยจตุตถฌานสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ
ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า แม้จตุตถฌานสมาบัติ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ไม่มีตัณหาแล้ว เพราะคนทั้งหลายสำคัญกันด้วยเหตุใดๆ เหตุนั้นๆ ย่อมเป็นอย่างอื่นจากที่สำคัญนั้น สัตบุรุษนั้นทำความไม่มีตัณหาแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยจตุตถฌานสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ
[๑๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเข้าอากาสานัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า อากาศไม่มีที่สุด อยู่ เพราะล่วงรูปสัญญาได้โดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญาได้ เพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญา ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติ อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น ด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ
ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า แม้อากาสานัญจายตนสมาบัติ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ไม่มีตัณหาแล้ว เพราะคนทั้งหลายสำคัญกันด้วยเหตุใดๆ เหตุนั้นๆ ย่อมเป็นอย่างอื่นจากที่สำคัญนั้น สัตบุรุษนั้นทำความไม่มีตัณหา แต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ
[๑๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าวิญญาณัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า วิญญาณไม่มีที่สุด อยู่ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ได้วิญญาณัญจายตนสมาบัติ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ได้วิญญาณัญจายตนสมาบัติ อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น ด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ
ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า แม้วิญญาณัญจายตนสมาบัติ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ไม่มีตัณหาแล้ว เพราะคนทั้งหลายสำคัญกันด้วยเหตุใดๆ เหตุนั้นๆ ย่อมเป็นอย่างอื่นจากที่สำคัญนั้น สัตบุรุษนั้นทำความไม่มีตัณหา แต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ
[๑๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าอากิญจัญญายตนฌานด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไรสักน้อยหนึ่งอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติ อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น ด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ
ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า แม้อากิญจัญญายตนสมาบัติ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ไม่มีตัณหาแล้ว เพราะคนทั้งหลายสำคัญกันด้วยเหตุใดๆ เหตุนั้นๆ ย่อมเป็นอย่างอื่นจากที่สำคัญนั้น สัตบุรุษทำความไม่มีตัณหาแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ
[๑๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ อสัตบุรุษนั้นจึงยกตนข่มผู้อื่น ด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คืออสัปปุริสธรรม ฯ
ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า แม้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ไม่มีตัณหาแล้ว เพราะคนทั้งหลายสำคัญกันด้วยเหตุใดๆ เหตุนั้นๆ ย่อมเป็นอย่างอื่นจากที่สำคัญนั้น สัตบุรุษนั้นจึงทำความไม่มีตัณหาแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ
[๑๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สัตบุรุษล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ เพราะเห็นด้วยปัญญา จึงมีอาสวะสิ้นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้แลย่อมไม่สำคัญอะไรๆ ย่อมไม่สำคัญที่ไหนๆ และไม่สำคัญด้วยเหตุไรๆ ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชม ยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ