พระพุทธศักดิ์สิทธิ์ วัดโพรงจระเข้
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สืบทอดพระพุทธศาสนา
นำทางสู่การพ้นทุกข์

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

???


๑๐. จูฬปุณณมสูตร (๑๑๐)

      [๑๓๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
      สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกา วิสาขามิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อม ประทับนั่งกลางแจ้ง ในราตรีมีจันทร์เพ็ญ วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ฯ
      [๑๓๑] ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดยลำดับ จึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษหรือไม่หนอ ฯ
      ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้อนี้หามิได้เลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ
      พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละ ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อสัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษไหมเล่า ฯ
      ภิ. ข้อนี้หามิได้เลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ
      พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละ แม้ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ นั่นก็ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส ฯ
      [๑๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของอสัตบุรุษ ภักดีต่ออสัตบุรุษ มีความคิดอย่างอสัตบุรุษ มีความรู้อย่างอสัตบุรุษ มีถ้อยคำอย่างอสัตบุรุษ มีการงานอย่างอสัตบุรุษ มีความเห็นอย่างอสัตบุรุษ ย่อมให้ทานอย่างอสัตบุรุษ ฯ
      [๑๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อสัตบุรุษเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของอสัตบุรุษอย่างไร คือ อสัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ มีสุตะน้อย เกียจคร้าน มีสติหลงลืม มีปัญญาทราม ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล อสัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของอสัตบุรุษ ฯ
      [๑๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษเป็นผู้ภักดีต่ออสัตบุรุษอย่างไร คืออสัตบุรุษในโลกนี้ มีสมณพราหมณ์ชนิดที่ไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ มีสุตะน้อย เกียจคร้าน มีสติหลงลืม มีปัญญาทราม เป็นมิตร เป็นสหาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล อสัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้ภักดีต่ออสัตบุรุษ ฯ
      [๑๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษเป็นผู้มีความคิดอย่างอสัตบุรุษอย่างไร คือ อสัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมคิดเบียดเบียนตนเองบ้าง คิดเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง คิดเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่ายบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล อสัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีความคิดอย่างอสัตบุรุษ ฯ
      [๑๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษเป็นผู้มีความรู้อย่างอสัตบุรุษอย่างไรคือ อสัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมรู้เพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง รู้เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง รู้เพื่อเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่ายบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล อสัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้รู้อย่างอสัตบุรุษ ฯ
      [๑๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษเป็นผู้มีถ้อยคำอย่างอสัตบุรุษอย่างไร คือ อสัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้มักพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ เจรจาเพ้อเจ้อ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล อสัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีถ้อยคำอย่างอสัตบุรุษ ฯ
      [๑๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษเป็นผู้มีการงานอย่างอสัตบุรุษอย่างไร คือ อสัตบุรุษในโลกนี้ มักเป็นผู้ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล อสัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีการงานอย่างอสัตบุรุษ ฯ
      [๑๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษเป็นผู้มีความเห็นอย่างอสัตบุรุษอย่างไร คือ อสัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผลยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้ว ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้ โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกไม่มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล อสัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีความเห็นอย่างอสัตบุรุษ ฯ
      [๑๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษย่อมให้ทานอย่างอสัตบุรุษอย่างไรคือ อสัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมให้ทานโดยไม่เคารพ ให้ทานไม่ใช่ด้วยมือของตน ทำความไม่อ่อนน้อมให้ทาน ให้ทานอย่างไม่เข้าใจ เป็นผู้มีความเห็นว่าไร้ผล ให้ทาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล อสัตบุรุษชื่อว่าย่อมให้ทานอย่างอสัตบุรุษ ฯ
      [๑๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษนั่นแหละ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของอสัตบุรุษอย่างนี้ ภักดีต่ออสัตบุรุษอย่างนี้ มีความคิดอย่างอสัตบุรุษอย่างนี้ มีความรู้อย่างอสัตบุรุษอย่างนี้ มีถ้อยคำอย่างอสัตบุรุษอย่างนี้ มีการงานอย่างอสัตบุรุษอย่างนี้ มีความเห็นอย่างอสัตบุรุษอย่างนี้ ให้ทานอย่างอสัตบุรุษอย่างนี้แล้ว เมื่อตายไป ย่อมบังเกิดในคติของอสัตบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็คติของอสัตบุรุษคืออะไร คือ นรก หรือกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน ฯ
      [๑๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษหรือไม่หนอ ฯ
      ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า รู้ พระพุทธเจ้าข้า ฯ
      พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละ ข้อที่สัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษไหมเล่า ฯ
      ภิ. รู้ พระพุทธเจ้าข้า ฯ
      พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละ แม้ข้อที่สัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ นั่นก็เป็นฐานะที่มีได้ ฯ
      [๑๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ ภักดีต่อสัตบุรุษ มีความคิดอย่างสัตบุรุษ มีความรู้อย่างสัตบุรุษ มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ มีการงานอย่างสัตบุรุษ มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ ย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ ฯ
      [๑๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมาก มีความเพียรปรารภแล้ว มีสติตั้งมั่น มีปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ ฯ
      [๑๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้ภักดีต่อสัตบุรุษอย่างไร คือสัตบุรุษในโลกนี้ มีสมณพราหมณ์ชนิดที่มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมาก มีความเพียรปรารภแล้ว มีสติตั้งมั่น มีปัญญา เป็นมิตร เป็นสหาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้ภักดีต่อสัตบุรุษ ฯ
      [๑๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีความคิดอย่างสัตบุรุษอย่างไรคือ สัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมไม่คิดเบียดเบียนตนเอง ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีความคิดอย่างสัตบุรุษ ฯ
      [๑๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีความรู้อย่างสัตบุรุษอย่างไรคือ สัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมไม่รู้เพื่อเบียดเบียนตนเอง ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลสัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้อย่างสัตบุรุษ ฯ
      [๑๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษอย่างไรคือ สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากคำพูดส่อเสียด งดเว้นจากคำหยาบ งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลสัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ ฯ
      [๑๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีการงานอย่างสัตบุรุษอย่างไรคือ สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนาทาน งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีการงานอย่างสัตบุรุษ ฯ
      [๑๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีความเห็นอย่างสัตบุรุษอย่างไรคือ สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว มีผล ยัญที่บูชาแล้ว มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่ว มีอยู่โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้ โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกมีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่า เป็นผู้มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ ฯ
      [๑๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษอย่างไร คือสัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ทำความอ่อนน้อมให้ทาน ให้ทานอย่างบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความเห็นว่ามีผล จึงให้ทาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ ฯ
      [๑๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษนั่นแหละ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษอย่างนี้ ภักดีต่อสัตบุรุษอย่างนี้ มีความคิดอย่างสัตบุรุษอย่างนี้ มีความรู้อย่างสัตบุรุษอย่างนี้ มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษอย่างนี้ มีการงานอย่างสัตบุรุษอย่างนี้ มีความเห็นอย่างสัตบุรุษอย่างนี้ ให้ทานอย่างสัตบุรุษอย่างนี้แล้ว เมื่อตายไป ย่อมบังเกิดในคติของสัตบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็คติของสัตบุรุษคืออะไร คือ ความเป็นผู้มีตนควรบูชาในเทวดา หรือความเป็นผู้มีตนควรบูชาในมนุษย์ ฯ
      พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

จบ จูฬปุณณมสูตร ที่ ๑๐
จบ เทวทหวรรค ที่ ๑
------------------------------------------
หัวข้อเรื่องของเทวทหวรรคนั้น ดังนี้

      ๑. เรื่องเทวทหะ ๒. เรื่องปัญจัตตยะ ๓. เรื่องสำคัญอย่างไร
๔. เรื่องนิครนถ์ ๕. เรื่องพยากรณ์อรหัตตผล ๖. เรื่องแคว้นกุรุ ๗. เรื่อง
พราหมณ์คณกะ ๘. เรื่องพราหมณ์โคปกะ ๙. และ ๑๐. เรื่องวันเพ็ญสอง
วัน รวมเป็นวรรคสำคัญชื่อเทวทหวรรค ที่ ๑ ฯ

-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. เทวทหสูตร
๒. ปัญจัตตยสูตร
๓. กินติสูตร
๔. สามคามสูตร
๕. สุนักขัตตสูตร
๖. อาเนญชสัปปายสูตร
๗. คณกโมคคัลลานสูตร
๘. โคปกโมคคัลลานสูตร
๙. มหาปุณณมสูตร
๑๐. จูฬปุณณมสูตร

--------------------------------------------------------------------


 

 

 

เชิญร่วมบุญ