พระพุทธศักดิ์สิทธิ์ วัดโพรงจระเข้
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สืบทอดพระพุทธศาสนา
นำทางสู่การพ้นทุกข์

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒
อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต


วิวิตตสูตร

      [๕๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกบัญญัติความสงัดจากกิเลสไว้ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ความสงัดจากกิเลสเพราะจีวร ๑ ความสงัดจากกิเลสเพราะบิณฑบาต ๑ ความสงัดจากกิเลสเพราะเสนาสนะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในความสงัดจากกิเลส ๓ อย่างนั้น ในความสงัดจากกิเลสเพราะจีวร พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกปฏิบัติไว้ดั่งนี้ คือ ทรงผ้าป่านบ้าง ผ้าแกมกันบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าบังสุกุลบ้าง ผ้าเปลือกไม้บ้าง หนังเสือบ้าง หนังเสือทั้งเล็บบ้าง ผ้าคากรองบ้าง ผ้าเปลือกปอกรองบ้าง ผ้าผลไม้กรองบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยขนสัตว์บ้าง ผ้าทำด้วยปีกนกเค้าบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกบัญญัติไว้ในความสงัดจากกิเลสเพราะจีวร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในความสงัดจากกิเลส ๓ อย่างนั้น ในความสงัดจากกิเลสเพราะบิณฑบาต พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกบัญญัติไว้ดังนี้ คือเป็นผู้มีผักดองเป็นภักษาบ้าง มีข้าวฟ่างเป็นภักษาบ้าง มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง มีกากข้าวเป็นภักษาบ้าง มียางเป็นภักษาบ้าง มีสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง มีรำเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีกำยานเป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเหง้าและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นเยียวยาอัตภาพ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกบัญญัติไว้ในความสงัดจากกิเลสเพราะบิณฑบาต ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในความสงัดจากกิเลส ๓ อย่างนั้น ในความสงัดจากกิเลสเพราะเสนาสนะ พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกบัญญัติไว้ดังนี้ คือป่า โคนไม้ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง โรงลาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกบัญญัติไว้ในความสงัดจากกิเลส เพราะเสนาสนะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกบัญญัติความสงัดจากกิเลส ๓ อย่างนี้แลไว้ ฯ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนความสงัดจากกิเลสของภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๓ อย่าง ๓ อย่างเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑ เป็นผู้มีศีลละความเป็นผู้ทุศีล และเป็นผู้สงัดกิเลส เพราะศีลนั้นด้วย ๒ เป็นผู้มีความเห็นชอบ ละความเห็นผิด และเป็นผู้สงัดจากกิเลสเพราะความเห็นชอบนั้นด้วย ๓ เป็นพระขีณาสพ ละอาสวะทั้งหลาย และเป็นผู้สงัดจากอาสวะทั้งหลายเหล่านั้นด้วย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น ภิกษุนี้จึงเรียกว่า เป็นผู้บรรลุส่วนอันเลิศ บรรลุส่วนที่เป็นแก่นสาร เป็นผู้บริสุทธิ์ ตั้งอยู่ในธรรมที่เป็นสาระ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนคฤหบดีชาวนา พึงใช้คนให้รีบเร่งเก็บเกี่ยวข้าวสาลีในนาของเขาซึ่งถึงพร้อมแล้ว ครั้นแล้วพึงใช้คนให้รีบเร่งรวบรวมเข้าไว้ ครั้นแล้วพึงใช้คนให้รีบเร่งขนเอาไปเข้าลาน ครั้นแล้วพึงใช้คนให้รีบเร่งลอมไว้ ครั้นแล้วพึงใช้คนให้รีบเร่งนวดเสีย ครั้นแล้วพึงใช้คนให้รุเอาฟางออกเสีย ครั้นแล้วพึงใช้คนให้รวมข้าวเปลือกเป็นกองเข้าไว้ ครั้นแล้วพึงใช้คนให้รีบเร่งฝัดข้าว ครั้นแล้วพึงใช้คนให้รีบเร่งขนเอาไป ครั้นแล้วพึงใช้คนให้รีบเร่งซ้อม ครั้นแล้วพึงใช้คนให้รีบเร่งเอาแกลบออกเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าวเปลือกเหล่านั้นของคฤหบดีชาวนานั้น พึงเป็นของถึงส่วนอันเลิศ ถึงส่วนเป็นแก่นสารสะอาดหมดจด ตั้งอยู่ในความเป็นของมีแก่นสาร ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีศีล ละความเป็นผู้ทุศีล และสงัดจากกิเลสแล้วเพราะศีลนั้นด้วย เป็นผู้มีความเห็นชอบ ละความเห็นผิด และสงัดจากกิเลสแล้วเพราะความเห็นชอบนั้นด้วย เป็นพระขีณาสพ ละอาสวะทั้งหลาย และสงัดจากอาสวะทั้งหลายนั้นด้วย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเช่นนี้เรียกว่า เป็นผู้บรรลุส่วนอันเลิศบรรลุ ส่วนที่เป็นแก่นสาร เป็นผู้หมดจด ตั้งอยู่ในธรรมที่เป็นแก่นสาร ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ

เชิญร่วมบุญ