พระพุทธศักดิ์สิทธิ์ วัดโพรงจระเข้
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สืบทอดพระพุทธศาสนา
นำทางสู่การพ้นทุกข์

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒
อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต


สารีปุตตสูตร

      [๔๗๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรสารีบุตร เราพึงแสดงธรรมโดยสังเขปก็มี โดยพิสดารก็มี ทั้งโดยสังเขปและพิสดารก็มี แต่บุคคลผู้ที่จะรู้ทั่วถึงธรรมหาได้ยาก ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระสุคต บัดนี้ เป็นการสมควรที่พระผู้มีพระภาคจะพึงทรงแสดงธรรมโดยสังเขปบ้าง โดยพิสดารบ้าง ทั้งโดยสังเขป ทั้งโดยพิสดารบ้าง จักมีผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้
      ภ. ดูกรสารีบุตร เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายควรศึกษาอย่างนี้ว่า ในกายอันมีวิญญาณนี้และในสรรพนิมิตภายนอก จักไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย อนึ่ง อหังการ มมังการ และมานานุสัย ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้เข้าเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอยู่ เราจักเข้าเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุตินั้นอยู่ ดูกรสารีบุตร เธอทั้งหลายควรศึกษาอย่างนี้แล เพราะภิกษุไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้และในสรรพนิมิตภายนอก กับภิกษุที่เข้าถึงเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ ซึ่งเป็นที่ไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ตัดตัณหา ถอนสังโยชน์ทิ้งกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะการรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยการละมานะโดยชอบ ดูกรสารีบุตร ก็เราหมายเอาข้อนี้ ได้กล่าวไว้ในอุทยปัญหาในปารายนสูตร ดังนี้ว่า
เรากล่าวธรรมสำหรับละกามสัญญา และโทมนัสทั้งสอง
และธรรมเป็นเหตุบรรเทาความง่วง และธรรมเป็นเครื่องห้าม
กันความรำคาญ อันมีอุเบกขากับสติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์
มีความตรึกประกอบด้วยธรรมแล่นไปในเบื้องหน้าว่า เป็น
ธรรมสำหรับทำลายล้างอวิชชา เป็นเครื่องพ้นกิเลสด้วยปัญญา
ที่รู้ทั่วถึง ฯ

เชิญร่วมบุญ