
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒
อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
จินตาสูตร
[๔๔๒] ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลักษณะคนพาล นิมิตคนพาล ความประพฤติไม่ขาดสายของคนพาล ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพาลในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้คิดเรื่องที่คิดชั่ว ๑ พูดคำที่พูดชั่ว ๑ ทำกรรมที่ทำชั่ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าคนพาลจักไม่เป็นคนคิดเรื่องที่คิดชั่ว ๑ พูดคำที่พูดชั่ว ๑ ทำกรรมที่ทำชั่ว ๑ เช่นนั้น บัณฑิตจะพึงรู้เขาด้วยเหตุอย่างไรว่า ผู้นี้เป็นคนพาล ไม่ใช่คนดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะคนพาลย่อมเป็นผู้คิดเรื่องที่คิดชั่ว พูดคำที่พูดชั่ว ทำกรรมที่ทำชั่ว ฉะนั้น บัณฑิตจึงรู้จักเขาว่า ผู้นี้เป็นคนพาล ไม่ใช่คนดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลักษณะคนพาล นิมิตคนพาล ความประพฤติไม่ขาดสายของคนพาล ๓ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลักษณะบัณฑิต นิมิตบัณฑิต ความประพฤติไม่ขาดสายของบัณฑิต ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้คิดเรื่องที่คิดดี ๑ พูดคำที่พูดดี ๑ ทำกรรมที่ทำดี ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าบัณฑิตไม่เป็นคนคิดเรื่องที่คิดดี พูดคำที่พูดดี และทำกรรมที่ทำดี เช่นนั้น บัณฑิตจะพึงรู้เขาได้ด้วยเหตุอะไรว่า ผู้นี้เป็นบัณฑิต เป็นคนดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะบัณฑิตย่อมเป็นผู้คิดเรื่องที่คิดดี พูดคำที่พูดดี และทำกรรมที่ทำดี ฉะนั้น บัณฑิตจึงรู้จักเขาว่า ผู้นี้เป็นบัณฑิต เป็นคนดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลักษณะบัณฑิต นิมิตบัณฑิต ความประพฤติไม่ขาดสายของบัณฑิต ๓ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการเหล่าใด อันเขารู้ว่าเป็นคนพาล เราจักประพฤติเว้นธรรม ๓ ประการนั้น บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการเหล่าใด อันเขารู้ว่าเป็นบัณฑิต เราจักประพฤติสมาทานธรรม ๓ ประการนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ